แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัท บ.ตั้งอยู่ต่างประเทศ มิได้เข้ามาตั้งสถานประกอบกิจการในประเทศไทยและไม่มีลูกจ้าง ผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในประเทศไทย การที่บริษัทดังกล่าวได้ประกอบกิจการทำสัญญายอมให้โจทก์ใช้ชื่อเครื่องหมายการค้าแอสเบสโตลักซ์ เป็นชื่อผลิตภัณฑ์กระเบื้องกระดาษของโจทก์ โดยมี อ.ผู้จัดการบริษัทเข้ามาเจรจาตกลงในประเทศไทยก่อนทำสัญญา ถือไม่ได้ว่าบริษัท บ.ประกอบกิจการในประเทศไทยโดยมี อ.เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อ ดังนั้น เงินค่าตอบแทนที่โจทก์ชำระเป็นค่าธรรมเนียมในการใช้เครื่องหมายการค้าแก่บริษัท บ. จำนวน 248.600 บาท จึงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทค่าแห่งสิทธิอย่างอื่นตามาตรา 40 (3) ซึ่งบริษัท บ.มีหน้าที่เสียภาษี โดยโจทก์ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 15 แล้วนำส่งอำเภอท้องที่ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายตามมาตรา 70 (2), 54 กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 76 ทวิ และ 71 (1) อันจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องใจความว่า โจทก์ได้รับแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มจากเจ้าพนักงานประเมินฉบับที่ ต.๙/๑๐๒๐/๒/๐๐๑๖๔ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๘ ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมาย ๒ ให้โจทก์นำเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายไปชำระคือเงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมสิทธิบัตรให้แก่บริษัท เคป แอส เบส ต๊อส ซึ่งอยู่ในประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ จำนวน ๒๔๘,๖๐๐ บาท อ้างว่าการที่โจทก์ได้ใช้ชื่อ (เทรดเนม) แอสเบสโตลักซ์เป็นชื่อผลิตภัณฑ์กระเบื้องกระดาษเข้าลักษณะเป็นค่าสิทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๔๐ (๓) โจทก์จะต้องรับผิดเสียภาษีตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา ๗๐ (๒) เป็นเงินค่าภาษี ๓๗,๒๙๐ บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่สั่งให้ชำระค่าภาษี ๓๗,๒๙๐ บาท ซึ่งเมื่อหักเงินภาษีที่โจทก์ชำระไว้แล้ว ๔,๙๗๐ บาท ออกคงเป็นเงินค่าภาษี ๓๒,๓๑๘ บาท กับเงินเพิ่มอีก ๖,๔๖๓.๖๐ บาท รวมเป็นเงิน ๓๘,๗๘๑.๖๐ บาท โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินเฉพาะกรณีนี้ตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย ๓ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ในฐานะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ และนำเงินค่าภาษีเพิ่มไปชำระแก่จำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๑๙ ครบถ้วนแล้ว โจทก์เห็นว่าคำสั่งเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือในการที่บริษัท เคปแอสเบสต๊อสยินยอมให้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า แอส เบส โตลักซ์ นั้น บริษัทส่งนายเอ็ม.เอ.เอฟนิวตัน ผู้จัดการเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเจรจาเงื่อนไขต่างๆ เมื่อเป็นที่ตกลงกัน ผู้จัดการจึงลงนามในข้อตกลงแทนบริษัท อันเข้าลักษณะบริษัทประกอบกิจการในประเทศไทย ขอให้พิพากษาแสดงว่าโจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ชอบแล้ว ให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินภาษีและเงินเพิ่มรวม ๓๘,๗๘๑.๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๑๙ ถึงวันฟ้อง ๘๐.๗๙ บาท กับดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากศาลเห็นว่าโจทก์จะต้องเสียภาษีตามคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ก็ขอให้สั่งงดเสียเงินเพิ่ม
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โจทก์จ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่บริษัทเคปแอสเบสต๊อส จำกัด ในการขอใช้เครื่องหมายการค้าแอสเบสโตลักซ์ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของเครื่งหมายการค้า เพื่อใช้เป็นชื่อผลิตภัณฑ์กระเบื้องกระดาษไทยของโจทก์ เป็นเงิน ๒๔๘,๖๐๐ บาท โจทก์เสียภาษีในอัตราร้อยละ ๒ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๑ (๑), ๗๖ ทวิ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะบริษัทเคปแอสเบสต๊อส จำกัด กับบริษัทเคปบิลคงก์โปรดักซ์ จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศอังกฤษมิได้กระทำกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แอสเบสโตลักซ์ในนามบริษัทนประเทศไทย บริษัททั้งสองมิได้มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในประเทศไทยตามความหมายมาตรา ๖๖, ๗๖ ทวิ นายเอ็ม.เอ.เอพนิวตัน บุคคลในบริษัทเคปแอสเบสต๊อส จำกัด เพียงแต่มาเยือนบริษัทโจทก์เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๑ ชั่วระยะเวลาหนึ่งเพื่อตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมการขอใช้เครื่องหมายการค้าแอสเบสโตลักซ์ของโจทก์ ซึ่งต่อมาได้จัดทำข้อตกลงในประเทศอังกฤษลงนามโดยบริษัท เคปแอสเบสต๊อส จำกัด และบริษัทเคปบิลกิงก์โปรดักซ์ จำกัด แล้วส่งมาให้โจทก์ลงนามในประเทศไทยเท่านั้น เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา ๗๐ (๒), ๕๔, ๒๗ มีคำสั่งให้โจทก์นำค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายกับเงินเพิ่มไปชำระการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บเงินเพิ่มตามมาตรา ๒๗ โจทก์มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ ๑๓๕ พ.ศ. ๒๕๑๗ ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ ไม่มีสิทธิได้รับงดหรือลดเงินเพิ่ม
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คำสั่งเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ต้องเสียเงินเพิ่ม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษา
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัท เคปแอสเบสต๊อส จำกัด และบริษัท เคปบิลดิงก์โปรดักซ์ จำกัด ตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษ บริษัท เคปแอสเบสต๊อส จำกัด เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าชื่อ แอสเบสโตลักซ์ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๑ บริษัททั้งสองทำสัญญากับโจทก์ตามเอกสาร จ.๔ ให้สิทธิโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าแอสเบสโตลักซ์เป็นชื่อผลิตภัณฑ์กระเบื้องกระดาษของโจทก์ มีกำหนดเวลา ๑๐ ปี นับแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๑ ในการนี้โจทก์ชำระค่าตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียมให้แก่บริษัท เคปแอสเบสต๊อส จำกัด ๒๔๘,๖๐๐ บาท ในการทำสัญญา บริษัท เคปแอสเบสต๊อส จำกัด ส่งนายเอ็ม เอ เอพนิวตัน ผู้จัดการบริษัทมาทำความตกลงกับโจทก์ในประเทศไทย เมื่อเจรจาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายเอ็ม เอ เอพนิวตัน กลับออกไปจากประเทศไทย หลังจากนั้นก็ส่งหนังสือสัญญาซึ่งบริษัททั้งสองลงชื่อแล้วมาให้โจทก์ลงชื่อในปรเทศไทย โจทก์เห็นว่าการที่นายเอ็ม เอ เอพนิวตันเข้ามาเจรจาทำสัญญาในประเทศไทยถือได้ว่าบริษัท เคปแอสเบสต๊อส จำกัด ประกอบกิจการในประเทศไทยแล้ว โจทก์จึงยื่นรายการเสียภาษีเงินได้แทนบริษัท เคปแอสเบสต๊อส จำกัด เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมที่บริษัทได้รับ ๒๔๘,๖๐๐ บาท ในอัตราร้อยละ ๒ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๖ ทวิ, ๗๑ (๑) เป็นเงินค่าภาษี ๔,๙๗๒ บาท ต่อมาฝ่ายจำเลยตรวจสอบเห็นว่าบริษัท เคปแอสเบสต๊อส จำกัด ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา ๗๐ (๒), ๔๐ (๓) ตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล คืออัตราร้อยละ ๑๕ โดยโจทก์ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษีจากเงินที่จ่ายนำส่งอำเภอท้องที่วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๘ เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ ๑ จึงมีคำสั่งที่ ต.๙/๑๐๒๐/๒๐๐๑๖๔ แจ้งให้โจทก์เสียภาษีเพิ่ม ซึ่งเมื่อหักค่าภาษีที่โจทก์ชำระไว้แล้วออก คงเป็นเงินค่าภาษี ๓๒,๓๑๘ บาท กับเงินเพิ่มตามมาตรา ๒๗ อีก ๖,๔๖๓.๖๐ บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมิน จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าบริษัท เคปแอสเบสต๊อส จำกัด และบริษัท เคปบิลดิงก์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษ มิได้เข้ามาตั้งสถานประกอบกิจการในประเทศไทย และไม่มีลูกจ้าง ผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในประเทศไทย การที่บริษัททั้งสองประกอบกิจการทำสัญญายอมให้โจทก์ใช้ชื่อเครื่องหมายการค้าแอสเบสโตลักซ์ เป็นชื่อผลิตภัณฑ์กระเบื้องกระดาษของโจทก์ โดยมีนายเอ็ม เอ เอพนิวตัน ผู้จัดการ บริษัท เคปแอสเบสต๊อส จำกัด เข้ามาเจรจาตกลงในประเทศไทยก่อนทำสัญญานั้น ถือไม่ได้ว่าบริษัททั้งสองประกอบกิจการในประเทศไทยโดยมีนายเอ็ม เอ เอฟ นิวตัน เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อ เพราะการทำสัญญาเป็นเรื่องของบริษัททั้งสองซึ่งอยู่ในประเทศอังกฤษโดยตรง บริษัทเพียงส่งนายเอ็ม เอ เอฟ นิวตันมาเจรจาเพื่อบริษัททั้งสองจะได้ทำสัญญากับโจทก์เท่านั้น จะเห็นได้ว่านายเอ็ม เอ เอฟ นิวตัน ก็มิได้ทำหน้าที่ยื่นเสียภาษีให้แก่บริษัทเคปแอสเบสต๊อส จำกัด ไว้ในอัตราร้อยละ ๒ โดยโจทก์เห็นว่าบริษัทดังกล่าวประกอบกิจการในประเทศไทยนั้น ข้อนี้เป็นความเข้าใจของโจทก์จะถือว่าจำเลยยอมรับว่าบริษัท เคป แอส เบสต๊อส จำกัด ประกอบกิจการในประเทศไทยไม่ได้ เมื่อบริษัท เคป แอส เบสต๊อส จำกัด มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย กรณีของโจทก์จึงไม่ต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๖ ทวิ, ๗๑ (๑) ที่โจทก์เสียภาษีเงินได้จากค่าธรรมเนียม ๒๔๘,๖๐๐ บาท แทนบริษัท เคป แอส เบสต๊อส จำกัด ในอัตราร้อยละ ๒ ย่อมไม่ถูกต้อง เงินค่าธรรมเนียม ๒๔๘,๖๐๐ บาท ถือได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทค่าแห่งสิทธิอย่างหนึ่งตามมาตรา ๔๐ (๓) ซึ่งบริษัท เคป แอส เบสต๊อส จำกัด มีหน้าที่เสียภาษี โดยโจทก์ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษีไว้ในอัตราร้อยละ ๑๕ แล้วนำส่งอำเภอท้องที่ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่าย ดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา ๗๐ (๒), ๕๔ เมื่อโจทก์ไม่นำส่งภายในกำหนด โจทก์ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๒๐ ตามมาตรา ๒๗ คำสั่งเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ ๔๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ จึงชอบด้วยกฎหมาย ที่โจทก์ฎีกาขอให้งดหรือเงินเพิ่มนั้น เห็นว่าโจทก์ก็มิได้นำเงินภาษีมาขอชำระตามมาตรา ๖๗ (๑) (๒) ทั้งมิได้ทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๓๕ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ กรณีของโจทก์จะลดเงินเพิ่มลงไม่ได้
พิพากษายืน