คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1703/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาดินแดง ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่เขตพญาไท กรุงเทพ ให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์ร่วมนำเช็คนั้นไปเข้าบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางนา เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาดินแดง ปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้น โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ให้ดำเนินคดีกับจำเลย โดยอ้างว่า จำเลยออกเช็คให้โจทก์ร่วมที่ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ดังนี้ แม้ความผิดมิได้เกิดขึ้นในท้องที่ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพราะธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงินมิได้ตั้งอยู่ในเขตอำเภอนั้นก็ตาม แต่โจทก์และโจทก์ร่วมก็อ้างว่าจำเลยกระทำผิดในเขตอำเภอพระประแดง โดยออกเช็คในท้องที่นั้น ถ้าเป็นความจริงก็ถือได้ว่า การกระทำผิดอาญาได้กระทำลงในท้องที่อำเภอพระประแดงต่อเนื่องกับการกระทำผิดในท้องที่ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระประแดงย่อมมีอำนาจสอบสวนตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (3) พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ มีอำนาจฟ้อง และศาลจังหวัดสมุทรปราการ ย่อมมีอำนาจชำระคดีตามมาตรา 22 เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้ วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาย้อนสำนวนไปให้พิจารณาพิพากษาใหม่ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4-8/2523)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดสาขาดินแดง รวม ๒ ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ ๕๐,๐๐๐ บาท ให้นายนำพรเพื่อชำระหนี้ค่าพิมพ์ผ้าและจำเลยออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาดินแดง รวม ๓ ฉบับจำนวนเงินแต่ละฉบับ ๗๐,๐๐๐ บาท, ๗๐,๐๐๐ บาท และ ๖๐,๐๐๐ บาท ให้นายนำพร เพื่อชำระหนี้เงินยืม เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด นายนำพรนำเช็คเหล่านั้นไปเข้าบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางนา เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาดินแดง ปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็ค ทั้งนี้ จำเลยออกเช็คดังกล่าวโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ออกเช็คให้ใช้เงินสูงกว่า จำนวนอันมีอยู่ในบัญชี และออกเช็คโดยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ เหตุเกิดตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และแขวงสามเสนใจ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วย ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ และนับโทษจำเลยในคดีหลังต่อจากโทษให้คดีแรกด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
นายนำพรผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามสำนวนมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ให้จำคุกกระทงละ ๔ เดือน รวม ๕ กระทงเป็นจำคุก ๑ ปี ๘ เดือน
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ความผิดทั้งสองสำนวนเกิดขึ้นที่แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ตั้งของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาดินแดง ซึ่งปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็ค มิได้เกิดขึ้นในท้องที่ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พนักงานสอบสวนคดีนี้จึงไม่ชอบ พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และความผิดมิได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ศาลดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจชำระคดี พิพากษากลับให้ยกฟ้องทั้งสองสำนวน
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาทั้งสองสำนวน
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยออกเช็คให้โจทก์ร่วม ๕ฉบับ เป็นเช็คของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาดินแดง ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่เขตพญาไท กรุงเทพ ให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์ร่วมนำเช็คนั้นไปเข้าบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางนา เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาดินแดง ปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้น โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ให้ดำเนินคดีกับจำเลย ทั้งนี้ โจทก์ร่วมอ้างว่า จำเลยออกเช็คทั้ง ๕ ฉบับให้โจทก์ร่วมที่ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พนักงานสอบสวนดังกล่าวสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ ได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะการสอบสวนชอบหรือไม่ และศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีอำนาจชำระคดีนี้หรือไม่
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า แม้ความผิดขึ้นในท้องที่ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพราะธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงินมิได้ตั้งอยู่ในเขตอำเภอนั้นก็ตาม แต่โจทก์และโจทก์ร่วมก็อ้างว่าจำเลยกระทำผิดในเขตอำเภอพระประแดง โดยออกเช็คในท้องที่นั้น ข้อเท็จจริงด้วยกล่าวศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย ซึ่งถ้าฟังได้เป็นความจริงก็ถือได้ว่า การกระทำผิดอาญาได้กระทำลงในท้องที่อำเภอพระประแดงต่อเนื่องกับการกระทำผิดในท้องที่ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระประแดงย่อมมีอำนาจสอบสวนตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙ (๓) การสอบสวนนั้นชอบด้วยกฎหมาย พนักงายอัยการจังหวัดสมุทรปราการ มีอำนาจฟ้อง และศาลจังหวัดสมุทรปราการ ศาลดังกล่าวย่อมมีอำนาจชำระคดีตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒ คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๙๖/๒๕๐๗ ระหว่าง นายนกุล อรรถวิทย์ โจทก์ บริษัทศรีสมิต จำกัด จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๒๙/๒๕๑๙ ระหว่าง ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล บ. เส็งเจริญ โจทก์ นายบุญธรรม ทองเพิ่ม จำเลย ซึ่งศาลอุทธรณ์อ้างมา รูปคดีไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่

Share