คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2195/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การที่หนังสือพิมพ์ของโจทก์นำรูปจำเลยไปรวมอยู่ในกลุ่มคนร้ายและอาชญากรในหน้าปกหนังสือพิมพ์ เป็นการทำให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าจำเลยเป็นบุคคลประเภทเดียวกับคนร้ายและอาชญากรเหล่านั้น ทำให้จำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียง จำเลยย่อมมีสิทธิตอบโต้โดยสุจริตเพื่อให้การกระทำดังกล่าวของโจทก์ไร้ผล ไม่มีคนเชื่อ ดังนั้น การที่จำเลยกล่าวต่อหน้าสาธารณชนว่า “โจทก์เป็นบรรณธิการ จิตใจต่ำช้ามาก จิตใจเลวทรามต่ำช้ามาก …….. ไอ้คนปัญญาทรามอย่างนี้ ผมไม่มีวันไปร่วมด้วย” ย่อมทำให้ผู้ที่ได้รับฟังไม่เลื่อมใสโจทก์ อันมีผลทำให้ผลร้ายที่จำเลยได้รับจากการกระทำของโจทก์ลดน้อยถอยลง เป็นการห้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนโดยสุจริตตามคลองธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1077/2504)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียงปวงชน จำเลยได้ใส่ความโจทก์ต่อที่ประชุมนักหนังสือพิมพ์โดยการป่าวประกาศว่าบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียปวงชน จิตใจต่ำช้ามาก จิตใจเลวทรามต่ำช้ามาก ……. ไอ้คนปัญญาทรามอย่างนี้ผมไม่มีวันไปร่วมด้วย ซึ่งเป็นการใส่ความโจทก์ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘, ๓๓๒, ๓๙๒, ๓๙๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ไม่มีมูลพอจะรับไว้พิจารณาพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่าคดีโจทก์มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘ และ ๓๙๓
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นบุคคลสำคัญของรัฐบาล การที่หนังสือพิมพ์ของโจทก์นำรูปของจำเลยไปรวมอยู่ในกลุ่มคนร้ายและอาชญากรในหน้าปกของหนังสือพิมพ์เป็นการทำให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าจำเลยเป็นบุคคลประเภทเดียวกับคนร้ายและอาชญากรเหล่านั้น การกระทของหนังสือพิมพ์โจทก์ทำให้จำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียง ตามกฎหมายจำเลยย่อมมีสิทธิตอบโต้สุจริตเพื่อให้การกระทำดังกล่าวของโจทก์ไร้ผล ไม่มีคนเชื่อ ดังนั้นการที่จำเลยกล่าวต่อหน้าสาธารณชนว่า โจทก์เป็นบรรณาธิการ จิตใจต่ำช้ามากจิตใจเลวทรามต่ำช้ามาก ….. ไอ้คนปัญญาทรามอย่างนี้ ผมไม่มีวันไปร่วมด้วยย่อมทำให้ผู้ที่ได้รับฟังไม่เลื่อมใสโจทก์ อันมีผลทำให้ผลร้ายที่จำเลยได้รับจากการกระทำของโจทก์ลดน้อยถอยลง เป็นการป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนโดยสุจริต ตามคลองธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๑) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘, ๓๙๓ แต่ประการใด
พิพากษายืน.

Share