คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4794/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัท ซ. เพียงแต่ได้รับสิทธิในการทำซ้ำ เผยแพร่และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ของโจทก์ร่วมในประเทศไทยแต่ผู้เดียว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งบริษัท ซ. คงมีลิขสิทธิ์เฉพาะในงานที่ได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์วิดีโอซีดีและวิดีโอเทปและมีสิทธิทำซ้ำ เผยแพร่ต่อสาธารณชนกับจัดจำหน่ายภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมในประเทศไทยได้โดยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ของโจทก์ร่วม เพราะได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์จากโจทก์ร่วมแล้วเท่านั้น จึงไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง ดังนั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ร่วมยังคงเป็นเจ้าของในงานภาพยนตร์ตามคำฟ้องในฐานะผู้สร้างสรรค์อยู่ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 11 โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายคดีนี้และมีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยได้
การที่แผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางถูกนำมาเก็บไว้ในสถานประกอบการค้าของจำเลยและจำเลยมิได้สั่งซื้อแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางจากผู้มีสิทธิดัดแปลงทำซ้ำในประเทศไทยหรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง เป็นพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เมื่อจำเลยมีแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางไว้เพื่อขายอันเป็นการกระทำเพื่อการค้าโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นภาพยนตร์วิดีโอซีดีที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธ์ของโจทก์ร่วม แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เสนอขายและขายแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางให้ผู้อื่นด้วย การกระทำของจำเลยตามที่ได้ความดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการมีไว้เพื่อขายซึ่งแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันเป็นการกระทำเพื่อการค้าซึ่งเป็นความผิดฐานหนึ่งตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำโดยมีเจตนาทุจริตหรือไม่ เพราะความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวหาได้มีองค์ประกอบว่าผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำโดยมีเจตนาทุจริตด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4 , 6 , 8 , 15 , 31 , 61 , 70 , 75 , 76 และ 78 สั่งให้แผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 245 แผ่น ของกลางตกเป็นของผู้เสียหายทั้งเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และจ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายทั้งเจ็ดยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต และให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 7 ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 7 ตามลำดับ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (ที่ถูกมาตรา 31 (1)) และ 70 วรรคสอง จำคุก 1 ปี และปรับ 350,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี แผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางให้ตกเป็นของผู้เสียหายทั้งเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ร่วมทั้งเจ็ดเป็นผู้สร้างสรรค์โดยเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทภาพยนตร์ตามคำฟ้อง และได้มีการโฆษณางานครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม อันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย โจทก์ร่วมทั้งเจ็ดจึงได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ตามวันเวลาเกิดเหตุในคำฟ้อง ร้อยตำรวจเอกภิรมย์เจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจกับพวกได้นำหมายค้นไปขอตรวจค้นร้านนิวเกมส์ของจำเลยซึ่งตั้งอยู่ชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ตามที่นายคณิตซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดร้องทุกข์ไว้ ผลการตรวจค้นพบแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ของโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดดังกล่าวข้างต้นจำนวน 245 แผ่น วางอยู่ในลิ้นชักของเคาน์เตอร์เก็บเงินในร้านดังกล่าว ร้อยตำรวจเอกภิรมย์กับพวกจึงยึดแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีดังกล่าวไว้เป็นของกลางและจับจำเลยมาดำเนินคดีนี้ ซึ่งในชั้นพิจารณาได้มีการตรวจนับจำนวนแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางแล้ว ปรากฏว่ามีจำนวน 246 แผ่น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้เสียหายคดีนี้หรือไม่ บริษัทซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพียงแต่ได้รับสิทธิในการดัดแปลงระบบภาพยนตร์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 มาเป็นแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีและวิดีโอเทปเท่านั้น โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ยังมีสิทธิที่จะเพิกถอนสิทธิของบริษัทซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ตลอดเวลา และบริษัทซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพียงแต่เป็นผู้ได้รับสิทธิในการทำซ้ำ เผยแพร่ และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ในประเทศไทยแต่ผู้เดียว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งบริษัทซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด คงมีลิขสิทธิ์เฉพาะในงานที่ได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์วิดีโอซีดีและวิดีโอเทปและมีสิทธิทำซ้ำ เผยแพร่ต่อสาธารณชนกับจัดจำหน่ายภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ในประเทศไทยได้โดยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 เพราะได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์จากโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 แล้วเท่านั้น จึงไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง ดังนั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ตามคำฟ้องในฐานะผู้สร้างสรรค์อยู่ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 11 โจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 จึงเป็นผู้เสียหายคดีนี้และมีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยได้…
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปอีกว่า จำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดโดยมีแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดไว้เพื่อขายอันเป็นการกระทำเพื่อการค้าหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดมีร้อยตำรวจเอกภิรมย์ผู้จับกุมจำเลยเป็นพยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ พยานกับนายคณิตและเจ้าพนักงานตำรวจอื่นอีกหลายคนได้พากันไปตรวจค้นร้านนิวเกมส์ของจำเลย พบแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางซุกซ่อนอยู่ในลิ้นชักเคาน์เตอร์ในร้าน ชั้นจับกุมพยานได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด้วยการขาย เสนอขายแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดี จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา การที่แผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางถูกนำไปซุกซ่อนไว้ในลิ้นชักเคาน์เตอร์เก็บเงินและจำเลยมิได้สั่งซื้อแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางจากผู้มีสิทธิดัดแปลงทำซ้ำในประเทศไทยหรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง ก็เป็นพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ยิ่งกว่านั้นยังปรากฏว่าแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางจำนวน 245 แผ่น (ที่ถูก 246 แผ่น) นั้น ประกอบด้วยภาพยนตร์จำนวน 23 เรื่อง ซึ่งภาพยนตร์แต่ละเรื่อง 1 ชุด จะประกอบด้วยแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดี จำนวน 2 แผ่น แผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางแต่ละเรื่องจึงมีหลายชุด หากจำเลยมิได้มีแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีดังกล่าวไว้เพื่อขายในทางการค้าแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องมีไว้เรื่องละหลาย ๆ ชุด และนำมาเก็บไว้ในสถานประกอบการค้าของจำเลยเช่นนั้น แม้พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดนำสืบจะรับฟังไม่ได้ว่าวันเกิดเหตุจำเลยได้เสนอขายและขายแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางให้ผู้อื่นด้วยดังที่จำเลยกล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ แต่การกระทำของจำเลยตามที่ได้ความดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการมีไว้เพื่อขายซึ่งแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันเป็นการกระทำเพื่อการค้าซึ่งเป็นความผิดฐานหนึ่ง ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) ประกอบด้วยมาตรา 70 วรรคสอง ตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องแล้ว และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำโดยมีเจตนาทุจริตหรือไม่ตามที่จำเลยยกขึ้นอ้างมาในอุทธรณ์อีก เพราะความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวหาได้มีองค์ประกอบว่าผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำโดยมีเจตนาทุจริตด้วยไม่…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลย จำคุก 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 4 เดือน 15 วัน และปรับ 75,000 บาท โดยให้รอการลงโทษไว้ตามเดิม หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตาม ป.อ. มาตรา 29 และ 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

Share