แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ส. ผู้แทนโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2530 โดยหนังสือดังกล่าวได้กล่าวถึงพฤติการณ์อันเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหายและระบุชื่อจำเลยที่ 1 ว่าเป็นผู้ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ทั้งขอให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้นอายุความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจากจำเลยที่ 1 จึงเริ่มนับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2530 แม้ในวันดังกล่าวโจทก์จะยังมิได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งก็ตาม หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว อายุความฟ้องร้องย่อมเริ่มนับแล้ว มิใช่ว่าจะต้องรอให้ได้รับรายงานผลการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งก่อนเสมอไป โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2532 เกินกว่า 1 ปี คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่สั่งปลดจำเลยที่ 1 ออกจากราชการเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2530 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 2 ต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์แล้ว โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้กระทำละเมิด จำเลยที่ 3 กระทำตามคำสั่งของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ภายหลังโจทก์ได้รับแจ้งเรื่องที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดจ้างปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ เพื่อเป็นศูนย์วิชาการกลุ่มโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดมหาสารคามส่อไปในทางทุจริตแล้ว โจทก์ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยจำเลยที่ 1 คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนแล้วรายงานผลแก่โจทก์ ต่อมานาย ส. เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ มีหนังสือลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2530 ถึงจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดมหาสารคามแจ้งผลการสอบสวนวินัยข้าราชการโดยหนังสือดังกล่าวมีข้อความในย่อหน้าที่ 3 ว่า “อนึ่ง สำหรับกรณีที่ทางราชการได้รับความเสียหายสืบเนื่องจากการกระทำของนายทองพูนที่กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จัดจ้างในราคาที่แพงกว่าราคาท้องตลาด ไม่เรียกค่าปรับในกรณีผู้รับจ้างส่งงานล่าช้าเกินกำหนดและอื่น ๆ นั้น ให้สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดมหาสารคามดำเนินการทางแพ่งแก่ผู้ที่ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายทุกคน
กรณีนายทองพูน จิมากร ทุจริตต่อหน้าที่ราชการนั้น ขอให้สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดมหาสารคามได้ร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนด้วย
” ข้อความดังกล่าวนี้ แสดงว่าอย่างช้าที่สุดในวันที่ 17 กรกฎาคม 2530 โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว โดยหนังสือดังกล่าวได้กล่าวถึงพฤติการณ์อันเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหายและระบุชื่อจำเลยที่ 1 ว่าเป็นผู้กระทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ทั้งขอให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้นอายุความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจากจำเลยที่ 1 จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2530 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2532 เกินกว่า 1 ปี คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง แม้ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2530 โจทก์จะยังมิได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งก็ตาม หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว อายุความฟ้องร้องย่อมเริ่มนับแล้ว มิใช่ว่าจะต้องรอให้ได้รับรายงานผลการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งก่อนเสมอไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.