แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงอันจะถือว่าเป็นกลฉ้อฉลตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 124 นั้น จะต้องเป็นการนิ่งในพฤติการณ์ที่คู่กรณีมีหน้าที่ควรจะบอกความจริง หรือเป็นการนิ่งประกอบด้วยพฤติการณ์อันแสดงออกซึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งหลง
กรณีที่จะมีโครงการตัดถนนผ่านที่ดินที่จะซื้อขายหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ของผู้จะซื้อ ที่จะบอกข้อความจริงดังกล่าว หากแต่เป็นหน้าที่ของผู้จะขายที่ดินพิพาทจะต้องขวนขวายแสวงหาความจริงเอาเอง แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าผู้จะซื้อจงใจนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงเกี่ยวกับโครงการจะตัดถนนผ่านที่ดินดังกล่าวซึ่งผู้ จะขายมิได้รู้มาก่อนและถ้าฝ่ายผู้จะซื้อมิได้นิ่งเสีย สัญญาจะซื้อขายที่ดินก็จะมิได้ทำขึ้นนั้น การกระทำของผู้จะซื้อก็ไม่เป็นกลฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 124
แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อ และได้แจ้งให้โจทก์รับเงินมัดจำคืน และโจทก์ไม่ยอมรับคืน แต่เมื่อโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่จะไม่ยอมรับเงินมัดจำคืนในขณะนั้นได้และเมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา หากจำเลยจะต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยด้วย นับแต่วันฟ้องซึ่งถือว่าเป็นวันที่จำเลยผิดนัด
ประเด็นที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และฎีกาเป็นเรื่องขอให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยขอให้บังคับจำเลยให้โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และรับเงินตามราคาที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันไปจากโจทก์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๒ ในฐานะตัวแทนเชิดของจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ๒ แปลง โฉนดที่ดินที่ ๔๑๕, ๑๙๐๕ ตำบลท่าแร้ง อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ราคา ๑,๕๒๕,๙๒๕ บาท โจทก์วางมัดจำไว้เป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท ที่เหลือจะชำระวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยทั้งสองมอบที่ดินให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่วันทำสัญญา ต่อมาจำเลยที่ ๑ กลับบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุจะบอกเลิกได้ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ ๒ โอนที่ดินตามสัญญา แต่จำเลยทั้งสองไม่จัดการโอนให้ ทำให้โจทก์เสียหาย เนื่องจากโจทก์ทำถนนในที่ดินทั้งสองแปลงนี้เชื่อมกับที่ดินแปลงอื่นเพื่อออกสู่ถนนเพิ่มสิน โดยต้องซื้อที่ดินที่คั่นอยู่เป็นเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท เพื่อใช้ทำถนนด้วย เสียค่าทำถนนเป็นเงิน ๒,๙๐๐,๐๐๐ บาท เสียค่าถมดิน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท เสียเงินทำถนนให้ที่ดินแปลงอื่นเพราะไม่อาจจัดให้มีถนนเชื่อตามข้อตกลงเป็นเงิน ๔๙๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินที่จ่ายไปทั้งสิ้น ๕,๙๗๐,๐๐๐ บาท โจทก์ต้องผิดสัญญาชำระค่าเสียหายให้ผู้รับจ้างทำถนนและถมดินไปเป็นเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้ นอกจากนี้โจทก์ต้องผิดสัญญาชำระค่าเสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพุทธพลผู้รับจ้างทำถนนและถมดินไปเป็นเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนที่ดินโฉนดที่ ๔๑๕ และโฉนดที่ ๑๙๐๕ ตำบลท่าแร้ง อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้ หากไม่ยอมโอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าเสียหายจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ หากโอนที่ดินให้โจทก์ไม่ได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินมัดจำ ๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๖ จนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจำนวน ๖,๒๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เป็นหัวหน้างานทะเบียน เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับพวกใช้รถของทางราชการกรุยทางตัดถนนผ่านที่ดินพิพาททั้งสองแปลง และผ่านที่ดินของผู้อื่นอีกหลายเจ้าของ เพื่อทำทางสาธารณะ ซึ่งจำเลยที่ ๒ เพิ่งทราบเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ อันเป็นเวลาภายหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ หากทราบมาก่อนจะไม่ทำสัญญาขายในราคานี้ แต่จะขายในราคาที่สูงกว่าประมาณ ๓ เท่า โจทก์จึงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจากจำเลย โดยจงใจนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงให้จำเลยทราบว่า ทางราชการมีโครงการตัดถนนสาธารณะผ่านที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอันเป็นการฉ้อฉลจำเลย สัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆียะ จำเลยได้บอกล้างให้โจทก์รับเงินมัดจำคืนเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๗ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์ และจำเลยที่ ๑ มิได้แต่งตั้งหรือเชิดให้จำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ ไม่เคยรับเอาผลของสัญญานั้น โจทก์ขอซื้อที่ดินจากจำเลยที่ ๒ ในราคาที่จำเลยทั้งสองเคยปรึกษากัน จำเลยที่ ๒ เข้าใจด้วยความสำคัญผิดว่า จำเลยที่ ๑ จะขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จึงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ไป จำเลยที่ ๑ ไม่เคยมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครอง โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ในฐานะตัวแทนเชิดซึ่งเปิดเผยชื่อจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นตัวการแล้วไม่ได้ และการแต่งตั้งตัวแทนไม่ได้ทำเป็นหนังสือ โจทก์จะบังคับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาหาได้ไม่ ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาได้แก่คืนเงินมัดจำเท่านั้น ซึ่งจำเลยกำหนดให้โจทก์รับคืน แต่โจทก์ไม่ไปรับจึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ค่าเสียหายนอกจากนี้มีไม่ถึงเท่าที่โจทก์ฟ้อง และไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๔๑๕ และ ๑๙๐๕ ตำบลท่าแร้ง อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์โดยให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย หากจำเลยบิดพริ้วให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือจากที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากโจทก์แก่จำเลย หากจำเลยทั้งสองไม่อาจที่จะโอนที่ดินให้โจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินมัดจำจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๖ จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๒๐,๐๐๐ บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ เป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์จงใจนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงเกี่ยวกับโครงการจะตัดถนนผ่านที่ดินพิพาท ซึ่งจำเลยมิได้รู้มาก่อนถ้าฝ่ายโจทก์มิได้นิ่งเสีย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทก็จะมิได้ทำขึ้นนั้น เห็นว่า การนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงอันจะถือว่าเป็นกลฉ้อฉลตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๔ นั้น จะต้องเป็นการนิ่งในพฤติการณ์ที่คู่กรณีมีหน้าที่ควรจะบอกความจริงหรือเป็นการนิ่งประกอบด้วยพฤติการณ์อันแสดงออกซึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งหลง แต่ในกรณีที่จะมีโครงการตัดถนนผ่านที่ดินพิพาทหรือไม่นี้ ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะบอกข้อความจริงดังกล่าว หากแต่เป็นหน้าที่ของจำเลยผู้จะขายที่ดินพิพาท จะต้องขวนขวายแสวงหาความจริงเอาเอง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ดังจำเลยอ้าง การกระทำของโจทก์ก็ไม่เป็นกลฉ้อฉลตามบทกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ที่จำเลยฎีกาว่า ในกรณีที่ต้องคืนเงินมัดจำจะคิดดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวได้ต่อเมื่อจำเลยไม่ยอมคืน และนับแต่วันที่จะต้องคืนเป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ ๑ ชำระดอกเบี้ยของเงินมัดจำตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๖ อันเป็นวันทำสัญญาจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๘ บัญญัติว่า “มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) …………..
(๒) …………..
(๓) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ” ปรากฏว่าในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทรายนี้ไม่ได้ตกลงในเรื่องมัดจำกันไว้เป็นอย่างอื่น แม้คดีจะได้ความว่าทนายจำเลยได้บอกเลิกสัญญาต่อโจทก์และได้แจ้งให้โจทก์มารับเงินมัดจำคืนตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ แต่โจทก์ไม่ยอมรับคืนก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงมีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่จะไม่ยอมรับเงินมัดจำคืนในขณะนั้นได้ และเมื่อปรากฏว่าต่อมาจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขาย และจำเลยจะต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้นับแต่วันฟ้องซึ่งถือว่าเป็นวันที่จำเลยผิดนัด ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าคดีนี้ประเด็นเรื่องค่าเสียหายถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ประเด็นที่พิพาทต่อมาไม่มีข้อโต้เถียงในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ คำสั่งและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมจึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ประเด็นที่พิพาทกันเฉพาะในชั้นอุทธรณ์และฎีกาเป็นเรื่องที่ขอให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย โดยขอบังคับจำเลยที่ ๑ ให้โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์และให้รับเงินตามราคาที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันไปจากโจทก์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท คำสั่งและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยนอกจากนี้เป็นข้อปลีกย่อย ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ ๑ ไม่อาจโอนที่ดินให้โจทก์ได้ ให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินมัดจำจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลเป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์