คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2523/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จองซื้อห้องชุดจากจำเลย 1 ห้อง โดยจองซื้อห้องชุดชั้น 7 ของโพเดียม แต่จำเลยมิได้ทำการก่อสร้างชั้น 7 ตามสัญญา ซึ่งจำเลยอ้างว่าในแผ่นโฆษณามีข้อความระบุว่า บริษัทฯ สงวนสิทธิที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพิ่มเติม โดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่สิทธิของจำเลยนั้น หมายถึงเฉพาะสิทธิแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียด หาใช่สิทธิแก้ไขโครงสร้างในสาระสำคัญถึงขนาดเปลี่ยนแปลงตัดทอนชั้นของอาคาร เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า ถึงแม้ทางบริษัทจำเลยมิได้ทำการก่อสร้างห้องชุดชั้น 7 แต่ได้จัดสรรห้องชุดอื่น ๆ แทนห้องชุดเดิมไว้ก็ตาม โจทก์มีสิทธิที่จะไม่รับพิจารณาห้องชุดในชั้นอื่นที่จำเลยเสนอ การที่จำเลยไม่ก่อสร้างห้องชุดชั้น 7 ให้โจทก์ จึงเป็นการกระทำผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
สัญญาที่โจทก์จองซื้อห้องชุดนี้ เป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยมีหนี้ที่ต้องชำระโดยก่อสร้างอาคารแก่โจทก์ตามสัญญา เมื่อจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้อย่างแน่แท้จึงเป็นกรณีการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที เพราะเป็นการเลิกสัญญาโดยอาศัยเหตุตามกฎหมาย ไม่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเลิกสัญญาตามที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยเป็นอันเลิกกัน จำเลยมีหน้าที่ต้องให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม ส่วนดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสอง นั้นให้คิดตั้งแต่ที่รับเงินไว้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย ตั้งแต่เวลาที่จำเลยรับเงินจากโจทก์ในแต่ละงวด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 696,482 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละงวด ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 285,446.74 บาท รวมเป็นเงิน 981,928.75 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 696,482 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 696,482 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียม โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินที่โจทก์ชำระแก่จำเลยแต่ละงวด นับแต่วันที่จำเลยได้รับเงินไว้จากโจทก์ในแต่ละงวด ตามเอกสารหมาย จ.4 (รวม 23 แผ่น) และ จ.5 แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 285,446.74 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์จองซื้อห้องชุดจากจำเลย 1 ห้อง ในโครงการเมืองทองธานี โดยจองซื้อห้องชุด ชั้น 7 ของโพเดียม อาคารสงขลา คอนโดมิเนียม โจทก์ชำระราคาส่วนที่ต้องชำระก่อนจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว แต่ในการก่อสร้าง จำเลยตัดชั้น 3 และชั้น 4 ของโพเดียมออก เป็นเหตุให้ชั้นที่โจทก์จองซื้อห้องชุดไว้เลื่อนจากชั้น 7 ลงมาเป็นชั้น 5 และไม่มีชั้น 7 ของโพเดียม เมื่อโจทก์เรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติ ตามสัญญา จำเลยตอบกลับมายังโจทก์ว่า จำเลยไม่ได้สร้างห้องชุดของโจทก์ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์จองซื้อห้องชุดที่ชั้น 7 ของโพเดียม แต่จำเลยเปลี่ยนแปลงงานก่อสร้างโดยไม่มีชั้น 7 ของโพเดียม จำเลยอ้างว่ามีสิทธิทำได้ตามที่สงวนสิทธิไว้ในแผ่นภาพโฆษณา ซึ่งมีข้อความว่า “บริษัทฯ สงวนสิทธิที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพิ่มเติมโดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า” ซึ่งสิทธิของจำเลยตามข้อความเช่นนี้ หมายถึงเฉพาะสินค้าแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียด หาใช่สิทธิแก้ไขโครงสร้างในสาระสำคัญ ถึงขนาดเปลี่ยนแปลงตัดทอนชั้นของอาคาร อันเป็นเหตุให้ไม่มีชั้น 7 ของโพเดียมที่โจทก์จองซื้อห้องชุดไว้ จำเลยเองก็ทราบถึงความสำคัญของชั้น 7 ของโพเดียม ดังที่เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา จำเลยตอบมายังโจทก์ตามหนังสือลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2538 ว่า “เนื่องจากห้องชุดของท่าน ในชั้นโพเดียม 7 เป็นห้องชุดที่บริษัทฯ มิได้ทำการก่อสร้าง บริษัทฯ จึงได้จองห้องชุดในลักษณะเดียวกันกับห้องชุด ที่ท่านจองไว้ในชั้นโพเดียมแทนห้องชุดเดิม และใคร่ขอรบกวนให้ท่านกรุณามาตรวจชมห้องชุดที่บริษัทฯ ได้จัดสรรไว้ให้นี้ โดยหากท่านไม่พึงพอใจในห้องชุดดังกล่าว ก็สามรถเลือกห้องชุดอื่น ๆ ที่ยังว่างอยู่แทนห้องชุดเดิมได้ โดยบริษัทฯ ยินดีที่จะขายให้ในราคาพิเศษแก่ท่าน” ด้วยเหตุนี้ การที่จำเลยไม่ก่อสร้างชั้น 7 ของโพเดียม แสดงว่าเป็นการกระทำผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิที่จะไม่รับพิจารณาห้องชุดในชั้นอื่นที่จำเลยเสนอ และโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเสียได้
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ชอบด้วยเอกสารแนบท้ายสัญญาหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ แม้เอกสารแนบท้ายสัญญา ข้อ 6.3 จะกำหนดว่า โจทก์บอกเลิกภาระผูกพันได้หลังจากส่งหนังสือ บอกกล่าวแก่จำเลยไม่น้อยกว่า 3 เดือน แต่ในเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนแล้วว่า จำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้อย่างแน่แท้โดยจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ในทันที โดยไม่ต้องรอเวลาตามที่ระบุในเอกสารแนบท้ายสัญญา ข้อ 6.3 เนื่องจากมิใช่การเลิกสัญญาโดยอาศัยเหตุตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อดังกล่าวและแม้โจทก์จะเคยมีหนังสือถึงจำเลยครึ่งหนึ่งแล้ว ให้เวลาจำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายใน 10 วัน หากไม่ปฏิบัติโจทก์ถือว่าเป็นการเลิกสัญญา เมื่อจำเลยตอบกลับมาว่าไม่อาจปฏิบัติได้ การที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาถึงจำเลย อีกครั้งหนึ่ง หาเป็นเหตุให้การบอกเลิกสัญญาปราศจากผลไม่ รับฟังได้ว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยเป็นอันเลิกกันแล้ว และจำเลยมีหน้าที่ต้องให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิม กล่าวคือ จำเลยต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระไว้แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตั้งแต่เมื่อใด กรณีนี้เป็นไปตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสอง ที่ว่า ดอกเบี้ยให้คิดตั้งแต่เวลาที่รับเงินไว้ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิ คิดดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่เวลาที่จำเลยรับเงินไว้จากโจทก์ในแต่ละงวดศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกา เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 15,000 บาท แทนโจทก์.

Share