คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4769/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยอมรับเงินค่างวดที่จำเลยผิดนัดชำระให้แก่โจทก์เรื่อยมาโดยไม่ได้อิดเอื้อนหรือโต้แย้งสงวนสิทธิของโจทก์ที่จะว่ากล่าวเอาแก่จำเลยในกรณีดังกล่าวไว้เลย พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยแสดงออกต่อกันเช่นนี้ต่างมิได้ถือเอากำหนดวันปฏิทินให้จำเลยชำระเงินแต่ละงวดตามสัญญากู้เงินเป็นสาระสำคัญต่อไป และถือได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงระงับข้อสัญญาเกี่ยวกับการชำระเงินแต่ละงวดล่าช้าไปกว่าวันที่กำหนดไว้ตามสัญญากู้เงินเป็นการผิดนัดกันอีกแล้ว ดังนั้นเมื่อถึงงวดชำระ จำเลยไม่ชำระเงินให้โจทก์ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยผิดนัด อันจะก่อให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดคืนได้ทันทีตามสัญญากู้เงิน เว้นแต่โจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินงวดที่ค้างในกำหนดเวลาพอสมควรก่อน หากจำเลยไม่ชำระจึงจะถือได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดเพราะโจทก์ได้เตือนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 และ 204 วรรคหนึ่ง
โจทก์เรียกให้จำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดคืนให้แก่โจทก์โดยอ้างเหตุกล่าวหาว่าจำเลยผิดนัด ไม่ชำระเงินให้โจทก์ตามกำหนดเท่านั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่โจทก์พึงมีตามสัญญากู้เงินข้อ 7 แม้จำเลยไม่ผิดนัดก็ตาม แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิดนัดชำระเงินให้แก่โจทก์ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจากจำเลย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดหรือไม่เท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ผิดนัดแล้ว ก็ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยถึงสิทธิอื่นใดของโจทก์อีก เพราะไม่มีประเด็นข้อพิพาทในคดี ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยถึงสิทธิของโจทก์ตามสัญญากู้เงิน โดยเห็นว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง นั้น เป็นการชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 4,513,582.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,966,881.84 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ยอมรับเงินค่างวดที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระให้แก่โจทก์เรื่อยมาโดยไม่ได้อิดเอื้อนหรือโต้แย้งสงวนสิทธิของโจทก์ที่จะว่ากล่าวเอาแก่จำเลยในกรณีดังกล่าวไว้เลย พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยทั้งสองแสดงออกต่อกันเช่นนี้เท่ากับว่าต่างมิได้ถือเอากำหนดวันปฏิทินให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแต่ละงวดตามสัญญากู้เงิน ข้อ 3 นั้น เป็นสาระสำคัญต่อไป และถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงระงับข้อสัญญาเกี่ยวกับการชำระเงินแต่ละงวดล่าช้าไปกว่าวันที่กำหนดไว้นั้น ไม่เป็นการผิดนัดกันอีกแล้ว ดังนั้นเมื่อถึงงวดชำระวันที่ 19 มีนาคม 2539 จำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินให้โจทก์ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดนัด อันจะก่อให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดคืนได้ทันที เว้นแต่โจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระเงินงวดที่ค้างในกำหนดเวลาพอสมควรก่อน หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระจึงจะถือได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดเพราะโจทก์ได้เตือนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 และ 204 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงจะใช้สิทธิตามสัญญากู้เงิน ข้อ 8 ทำหนังสือให้จำเลยทั้งสองชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์และบอกกล่าวบังคับจำนองได้
ตามคำฟ้องของโจทก์นั้น โจทก์เรียกให้จำเลยทั้งสองชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดคืนให้แก่โจทก์โดยอ้างเหตุกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองผิดนัด ไม่ชำระเงินให้โจทก์ตามกำหนดเท่านั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่โจทก์พึงมีตามสัญญาเงินกู้ ข้อ 7 แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิดนัดชำระเงินให้แก่โจทก์ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจากจำเลยทั้งสอง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดนัดหรือไม่เท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองไม่ผิดนัดแล้ว ก็ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยถึงสิทธิอื่นใดของโจทก์อีก เพราะไม่มีประเด็นข้อพิพาทในคดี ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยถึงสิทธิของโจทก์ตามสัญญากู้เงิน ข้อ 7 โดยเห็นว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่งนั้น เป็นการชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share