คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3197/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างได้ระบุไว้ว่า กำหนดเวลาแล้วเสร็จของงานคือวันที่ 31 สิงหาคม 2538 โจทก์ได้ส่งมอบงานครั้งสุดท้ายคือวันที่ 31 สิงหาคม 2538 ขณะที่มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายนั้น งานตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ เหตุที่โจทก์ขอส่งมอบงานก่อนโดยมีเงื่อนไขว่าจะรับผิดชอบในงานส่วนที่เหลือ และจำเลยตกลงรับมอบงานไว้นั้นก็เพื่อมิให้โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาอันจะทำให้ถูกปรับและเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญา หลังจากที่มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายแล้ว โจทก์ยังคงทำงานตามสัญญาจ้างรับเหมาก่อสร้างต่อไป จนกระทั่งงานเสร็จ หลังจากนั้นทางฝ่ายจำเลยได้ออกใบรับรองการจ่ายเงินให้โจทก์เป็นค่าจ้างงวดสุดท้าย และต่อมาจำเลยจ่ายเงินให้โจทก์จำนวนหนึ่ง พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ได้ปฏิบัติต่อกันดังกล่าว เห็นได้ว่าต่างก็ไม่ถือกำหนดระยะเวลาเป็นสาระสำคัญของสัญญาอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตามโจทก์ยังคงต้องดำเนินการต่อไปให้แล้วเสร็จตามสัญญาอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีข้อชำรุดบกพร่อง โจทก์จึงจะได้รับค่าจ้างครบถ้วนตามสัญญา การที่โจทก์ดำเนินการก่อสร้างแล้วชำรุดบกพร่อง โจทก์จึงยังคงต้องรับผิดค่าเสียหายในส่วนที่ชำรุดบกพร่องนี้ เมื่อโจทก์ยังคงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสิ่งก่อสร้างอยู่ การที่จำเลยใช้สิทธิไม่ชำระค่าจ้างงวดสุดท้ายไว้ จึงเป็นการใช้สิทธิยึดหน่วงสินจ้างเป็นค่าเสียหายในการก่อสร้างตามสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 2,140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 2,233,625 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,140,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา กล่าวคือ เมื่อมีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายวันที่ 31 สิงหาคม 2538 งานยังไม่แล้วเสร็จจำเลยจึงไม่รับมอบงานดังกล่าว ต่อมาก็ไม่ปรากฏการส่งมอบงานกันอีกถือว่าจำเลยยังไม่ได้รับมอบงานแต่อย่างใด นอกจากนี้สิ่งปลูกสร้างตามที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ดำเนินการก็ไม่เรียบร้อยใช้การไม่ได้ ใช้วัสดุไม่ตรงตามสัญญา งานฉาบปูนไม่เรียบร้อย งานระบายน้ำใช้การไม่ได้ ถนนทรุดตัวและอื่น ๆ อีกหลายประการ จำเลยได้แจ้งให้บริษัทโปรเจคแพลนนิ่งเซอร์วิส จำกัด ผู้ควบคุมงานก่อสร้างทราบเพื่อให้โจทก์แก้ไขให้เรียบร้อย โจทก์ไม่แก้ไขจึงถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ใบรับรองการจ่ายเงินงวดสุดท้ายจำนวน 2,800,000 บาท เป็นการออกโดยคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ยังไม่ได้แก้ไขงาน ต่อมาจำเลยชำระเงินให้โจทก์บางส่วนจำนวน 660,000 บาท คงค้างชำระจำนวน 2,140,000 บาท จำเลยใช้สิทธิยึดหน่วงเงินจำนวนดังกล่าวจนกว่าโจทก์จัดการแก้ไขงานให้เรียบร้อย แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยจึงยังคงยึดหน่วงเงินตามฟ้องได้และไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย 2,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2537 จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างโรงพยาบาลนครธน กำหนดงานแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2538 และจำเลยได้ตั้งบริษัทโปรเจคแพลนนิ่งเซอร์วิส จำกัด เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างแทนจำเลยและมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองให้แก่โจทก์เพื่อนำไปเบิกค่าจ้างแต่ละงวดจากจำเลย โจทก์ได้ทำหนังสือส่งมอบงานงวดสุดท้ายแก่จำเลยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2538 ต่อมา วันที่ 26 กันยายน 2539 บริษัทโปรเจคแพลนนิ่งเซอร์วิส จำกัด ออกใบรับรองการจ่ายเงินงวดสุดท้ายจำนวน 2,800,000 บาท ให้แก่โจทก์และต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2539 จำเลยได้ชำระเงินจำนวน 660,000 บาท ให้แก่โจทก์ ซึ่งยังคงค้างชำระอีก 2,140,000 บาท ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 มีว่า จำเลยผิดสัญญาจ้างทำของตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนางสาวรัตนากับนายอำนาจ เบิกความว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลนครธนในราคา 247,802,929 บาท กำหนดก่อสร้างเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2538 โจทก์ได้ก่อสร้างเสร็จแล้วและส่งมอบงานครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2538 ปรากฏตามหนังสือส่งมอบงานเอกสารหมาย ล.1 แต่งานที่ส่งนั้นยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี งานเสร็จเรียบร้อยเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2538 หลังจากนั้นวันที่ 26 กันยายน 2539 บริษัทโปรเจคแพลนนิ่งเซอร์วิส จำกัด ได้ออกใบรับรองการจ่ายเงินให้โจทก์เป็นค่าจ้างงวดสุดท้ายเป็นเงิน 2,800,000 บาท ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2539 จำเลยจ่ายเงินสดให้โจทก์เพียง 660,000 บาท จำเลยยังคงค้างชำระอยู่อีก 2,140,000 บาท ค่าเสียหายที่จำเลยอ้างตามภาพถ่ายหมาย ล.10 ล.11 คิดเป็นเงินไม่ถึง 2,000,000 บาท แต่หากจะรื้อแล้วทำใหม่จะใช้เงินสูงกว่า 2,000,000 บาท ค่าเสียหายทั้งหมดไม่ได้เกิดจากการกระทำของโจทก์ แต่เกิดจากการออกแบบของผู้ที่จำเลยไปว่าจ้างให้ออกแบบ ส่วนจำเลยมีนายอนันต์ และนายวันชัยเบิกความว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างโรงพยาบาล แต่โจทก์ดำเนินการก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญาคือภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2538 ซึ่งปรากฏข้อความอยู่ในหนังสือส่งมอบงานงวดสุดท้าย เอกสารหมาย ล.1 งานที่ก่อสร้างไปแล้วได้ชำรุดบกพร่อง เช่นถนนรอบอาคารทรุดตัว งานเทพื้นคอนกรีตเป็นแอ่งทำให้น้ำขัง โจทก์ได้แก้ไขปรับปรุงให้เพียงบางส่วน จำเลยจึงจ่ายเงินให้โจทก์อีก 660,000 บาท คงค้างชำระอยู่อีก 2,140,000 บาท ซึ่งจำเลยใช้สิทธิยึดหน่วงไว้จนกว่าโจทก์จะแก้ไขปรับปรุงให้แล้วเสร็จ เห็นว่าตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ตามเอกสารหมาย จ.3 ได้ระบุไว้ว่า กำหนดเวลาแล้วเสร็จของงานคือวันที่ 31 สิงหาคม 2538 โจทก์ได้ส่งมอบงานครั้งสุดท้ายคือวันที่ 31 สิงหาคม 2538 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งตามเอกสารหมาย ล.1 ได้ระบุว่า อนึ่งงานในส่วนที่บริษัทฯ ยังคงรับผิดชอบในพื้นที่บางส่วนซึ่งได้หยุดงานเพื่อรอให้งานของโครงการฯ ดำเนินการแล้วเสร็จก่อนนั้น บริษัทจะเข้าดำเนินการทันทีเมื่อได้รับแจ้งว่าให้เข้าดำเนินต่อได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าขณะที่มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายนั้น งานตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ เหตุที่โจทก์ขอส่งมอบงานก่อนโดยมีเงื่อนไขว่าจะรับผิดชอบในงานส่วนที่เหลือ และจำเลยตกลงรับมอบงานไว้นั้นก็เพื่อมิให้โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาอันจะทำให้ถูกปรับและเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญา หลังจากที่มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายแล้ว โจทก์ยังคงทำงานตามสัญญาจ้างรับเหมาก่อสร้างต่อไป จนกระทั่งงานไปเสร็จสิ้นประมาณเดือนธันวาคม 2538 หลังจากนั้นทางฝ่ายจำเลยได้ออกใบรับรองการจ่ายเงินให้โจทก์เป็นค่าจ้างงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2539 และต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2539 จำเลยจ่ายเงินสดให้โจทก์จำนวน 660,000 บาท พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ได้ปฏิบัติต่อกันดังกล่าวเห็นได้ว่าต่างก็ไม่ถือกำหนดระยะเวลาเป็นสาระสำคัญของสัญญาอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตามโจทก์ยังคงต้องดำเนินการต่อไปให้แล้วเสร็จตามสัญญาอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีข้อชำรุดบกพร่อง โจทก์จึงจะได้รับค่าจ้างครบถ้วนตามสัญญา การที่โจทก์ดำเนินการก่อสร้างแล้วชำรุดบกพร่อง ปรากฏตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.10 และ ล.11 โจทก์จึงยังคงต้องรับผิดค่าเสียหายในส่วนที่ชำรุดบกพร่องนี้ ซึ่งนายอำนาจพยานโจทก์เบิกความว่า ในส่วนที่ชำรุดบกพร่องนั้น หากมีการซ่อมแซมแล้วค่าเสียหายไม่เกิน 2,000,000 บาท แต่หากมีการรื้อถอน ทำใหม่ ค่าเสียหายจะเกิน 2,000,000 บาท ซึ่งจากสภาพตามภาพถ่ายในส่วนที่มีการชำรุดบกพร่องนั้น หากจะให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยคงจะต้องมีการรื้อและทำใหม่ มูลค่าที่เสียหายจึงเจือสมที่ทางฝ่ายจำเลยได้นำสืบว่ามีค่าเสียหายประมาณ 2,000,000 บาท เมื่อโจทก์ยังคงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสิ่งก่อสร้างอยู่ การที่จำเลยใช้สิทธิไม่ชำระค่าจ้างงวดสุดท้ายจำนวน 2,140,000 บาทไว้ จึงเป็นการใชัสิทธิยึดหน่วงสินจ้างเป็นค่าเสียหายในการก่อสร้างตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 และจำนวนเงินที่จำเลยยึดหน่วงไว้นั้นก็เป็นการใกล้เคียงกับค่าเสียหายที่แท้จริงหากจะต้องมีการแก้ไขให้สมบูรณ์ ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยรับมอบงานงวดสุดท้ายไว้โดยไม่โต้แย้งเรื่องความชำรุดบกพร่องไว้นั้น เห็นว่า โจทก์จะนำเรื่องระยะเวลาในการโต้แย้งตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 มาเป็นข้ออ้างมิได้ เนื่องจากได้วินิจฉัยไว้ในเบื้องต้นแล้วว่า โจทก์และจำเลยต่างไม่ถือเอาเรื่องกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ อย่างไรก็ตามการที่โจทก์ทำหนังสือเอกสารหมาย ล.1 ส่งมอบงานให้จำเลยเป็นงวดสุดท้ายก็ปรากฏอยู่ในเอกสารดังกล่าวว่าจะยอมรับผิดในส่วนงานที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์อยู่ และที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยออกใบรับรองการจ่ายเงินงวดสุดท้ายจำนวน 2,800,000 บาท คืนเงินประกันผลงานจำนวน 8,800,000 บาท และคืนหนังสือค้ำประกันผลงานให้โจทก์แล้วถือเป็นการยอมรับว่ามีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายเรียบร้อยโดยไม่มีข้อชำรุดบกพร่องนั้น เห็นว่า การที่จำเลยยอมคืนเงินค้ำประกันผลงานและหนังสือค้ำประกันผลงานให้แก่โจทก์เป็นเพราะจำเลยเห็นว่ายังคงมีเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายที่ค้างชำระอยู่เพียงพอที่หักไว้เป็นค่าเสียหายได้ หากโจทก์มิได้ปฏิบัติตามสัญญาให้เรียบร้อย หาได้หมายความถึงว่าเป็นการยอมรับว่าโจทก์ได้ส่งมอบงานโดยไม่มีการชำรุดบกพร่องไม่ เพียงแต่จำเลยเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะยึดหน่วงเอกสารไว้ เพราะมิฉะนั้นแล้วจำเลยก็คงจะชำระเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายให้แก่โจทก์เป็นเงินสดไปทั้งหมด อีกทั้งคงจะไม่ให้บันทึกไว้ในสัญญาส่งมอบงานงวดสุดท้ายตามเอกสารหมาย ล.1 ว่าโจทก์ยังคงมีงานที่จะต้องรับผิดต่อไปจนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญา ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share