แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งของกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ข้อ 2 และข้อ 4.4 หมายความว่า การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นให้ถือว่ารายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้ถือว่าเป็นรายได้และรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และงานที่ทำเสร็จในรอบระยะเวลาบัญชีใดแม้จะยังไม่ได้รับเงินก็ต้องนำเอางานที่ทำเสร็จนั้นมาคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย ค่ารับเหมาก่อสร้างจำนวน 2,707,215.10 บาท เป็นเงินที่ผู้ว่าจ้างจ่ายให้โจทก์ล่วงหน้าโดยจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 รายได้รับล่วงหน้าดังกล่าว เมื่อโจทก์มิได้มีผลงานให้แก่ ผู้ว่าจ้าง ก็ยังไม่ถือเป็นรายได้ของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 โจทก์จึงไม่ต้องนำค่าจ้างรับล่วงหน้ามารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532
ประมวลรัษฎากรให้อำนาจแก่อธิบดีกรมสรรพากรวางระเบียบในการงดหรือลดเบี้ยปรับได้ แต่ระเบียบ ดังกล่าวเป็นเพียงข้อกำหนดที่ให้เจ้าพนักงานประเมินยึดถือปฏิบัติตามเท่านั้น หาได้มีบทกฎหมายใดให้ศาลจำต้อง ถือตามไม่ ดังนั้น หากศาลเห็นว่าผู้ถูกประเมินให้เสียภาษีมีเหตุสมควรตามกฎหมายที่จะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือ เสียเบี้ยปรับน้อยลง ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลดหรืองดเบี้ยปรับนั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 147/2542/สภ.1 (กม.4) ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 หากศาลวินิจฉัยว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะส่วนของเบี้ยปรับตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 2010060/2/100047 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 147/2542/สภ.1 (กม.4) ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์แจ้งรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 ต่ำไปจำนวน 2,707,215.10 บาท หรือไม่ เห็นว่า ตามป. รัษฎากร มาตรา 65 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลคำนวณรายได้และรายจ่ายโดยใช้เกณฑ์สิทธิ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อเปลี่ยนแปลงเกณฑ์สิทธิและวิธีการทางบัญชีเพื่อคำนวณรายได้และรายจ่ายดังกล่าว จึงต้องฟังว่าโจทก์ใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่าย และเมื่อพิจารณาประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 เรื่องการใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ข้อ 2 กับข้อ 4.4 หมายความว่า การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นให้ถือว่ารายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดก็ให้ถือว่าเป็นรายได้และรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นและงานที่ทำเสร็จในรอบระยะเวลาบัญชีใดแม้จะยังไม่ได้รับเงินก็ต้องน่าเอางานที่ทำเสร็จนั้นมาคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย สำหรับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างจำนวน 2,707,215.10 เป็นเงินที่ผู้ว่าจ้างจ่ายให้โจทก์ล่วงหน้าโดยจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 รายได้รับล่วงหน้าดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังมิได้มีผลงานให้แก่ผู้ว่าจ้าง แม้โจทก์จะ รับเงินล่วงหน้ามาแล้ว ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 ก็ยังไม่ถือเป็นรายได้ของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 โจทก์ได้รับค่าจ้างและค่าจ้างรับล่วงหน้าจำนวน 12,735,817.50 บาท และโจทก์ได้นำมาคำนวณเป็นรายได้ตามส่วนของงานที่ทำเสร็จในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 แล้ว คงเหลือค่าจ้างล่วงหน้า ที่โจทก์รับมาแล้ว แต่โจทก์ยังมิได้มีผลงานให้แก่ผู้ว่าจ้างอยู่อีกจำนวน 2,707,215.10 บาท การรับรู้รายได้ของโจทก์เป็นการปฏิบัติตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.1/2528 แล้ว ดังนั้น โจทก์จึงไม่ต้องนำค่าจ้างรับล่วงหน้าจำนวน 2,707,215.10 บาท มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 เป็นผลให้โจทก์มิได้แจ้งรายได้ต่ำไปจำนวน 2,707,215.10 บาท
ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ศาลไม่มีอำนาจและไม่มีเหตุลดหรืองดเบี้ยปรับให้โจทก์นั้น เห็นว่า แม้ตาม ป. รัษฎากรจะให้อำนาจแก่อธิบดีกรมสรรพากรวางระเบียบในการงดหรือลดเบี้ยปรับได้ ระเบียบดังกล่าว ก็เป็นเพียงข้อกำหนดที่ให้เจ้าพนักงานประเมินยึดถือปฏิบัติตามเท่านั้น หาได้มีบทกฎหมายใดให้ศาลจำต้องถือตามไม่ ดังนั้น หากศาลเห็นว่าผู้ถูกประเมินให้เสียภาษีมีเหตุสมควรตามกฎหมายที่จะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเสียเบี้ยปรับ น้อยลง ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลดหรืองดเบี้ยปรับนั้นได้ แต่ที่ศาลภาษีอากรกลางงดเบี้ยปรับให้โจทก์ทั้งหมดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คงให้เพิกถอนเฉพาะเบี้ยปรับในส่วนของการบันทึกรายได้ต่ำไปจำนวน 2,707,215.10 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 2010060/2/100047 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 147/2542/สภ.1 (กม.4) ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 เฉพาะรายการบันทึกรายได้ไว้ต่ำไปจำนวน 2,707,215.10 บาท พร้อมเบี้ยปรับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนด ค่าทนายความรวม 30,000 บาท