แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เฉี่ยวชนรถยนต์เก๋งทำให้รถทั้งสองคันเสียหาย มีผู้บาดเจ็บ ต่อมาจำเลยที่ 3 กับ ณ. ผู้ขับรถยนต์เก๋งทำบันทึกข้อตกลงโดยตกลงกันว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับช่วยเหลือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อบรรเทาผลร้ายโดยยอมจ่ายเงินให้ ณ. จำนวน 20,000 บาท และ ณ. ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดเพิ่มเติม บันทึกดังกล่าวไม่มีรายละเอียดระบุว่าเงินช่วยเหลือที่ ณ. รับไปนั้นเป็นค่าเสียหายใด ทั้ง ศ. ผู้เอาประกันภัยรถยนต์เก๋งได้เรียกร้องให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดแก่รถยนต์เก๋งแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะเชิด ณ. เป็นตัวแทนให้ตกลงเรื่องค่าเสียหายแทน เงินช่วยเหลือค่าเสียหายตามบันทึกตกลงค่าเสียหายจึงเป็นค่าเสียหายส่วนตัวของ ณ. เนื่องจาก ณ. ได้รับบาดเจ็บและไม่อาจใช้รถยนต์เก๋งเดินทางต่อไปได้ไม่เกี่ยวกับค่าเสียหายของรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ อันจะทำให้มูลละเมิดที่รถยนต์เก๋งซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ระงับสิ้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจำนวน ๒๑๕,๓๓๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๒๐๘,๘๑๒ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ตามที่โจทก์ฟ้องและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๔,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๖,๐๐๐ บาท
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันวินาศภัยรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน ๑ ศ – ๐๗๑๕ กรุงเทพมหานคร ไว้จากนางสาวศิริพัตน์ ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นสามีภริยากันและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ๘๐ – ๕๘๐๓ ลำปาง ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เมื่อถึงที่เกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ ขับรถเลี้ยวขวาจะกลับรถไปทางจังหวัดลำปาง เป็นเหตุให้นายณรงค์ชัยซึ่งขับรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยแล่นตามมาชนรถยนต์บรรทุก รถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย ต่อมาวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๓ กับนายณรงค์ชัยได้ทำบันทึกการตกลงค่าเสียหายกันที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปาง โดยจำเลยที่ ๓ จ่ายเงินให้นายณรงค์ชัย ๒๐,๐๐๐ บาท ตามบันทึกการตกลงค่าเสียหาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า บันทึกการตกลงค่าเสียหายเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งนายณรงค์ชัยกระทำไปในฐานะตัวแทนของนางสาวศิริพัตน์ อันเป็นผลให้จำเลยทั้งสามพ้นจากความรับผิดหรือไม่ ตามบันทึกการตกลงค่าเสียหายมีข้อความว่า จำเลยที่ ๓ เจ้าของรถยนต์บรรทุกกับนายณรงค์ชัยผู้ขับรถยนต์เก๋งมาพบกันเพื่อตกลงในเรื่องจำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกเฉี่ยวชนรถยนต์เก๋ง ทำให้รถยนต์ทั้งสองคันได้รับความเสียหาย มีผู้บาดเจ็บ โดยตกลงกันว่า ข้อ ๑. จำเลยที่ ๓ เจ้าของรถยนต์บรรทุกยอมรับช่วยเหลือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อบรรเทาผลร้าย โดยจ่ายเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ให้แก่นายณรงค์ชัย ข้อ ๒. นายณรงค์ชัยตกลงตามข้อ ๑. ด้วยความพอใจทุกประการและได้รับเงินจำนวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดเพิ่มเติมอีก ท้ายบันทึกจำเลยที่ ๓ ลงลายมือชื่อผู้มอบเงิน นายณรงค์ชัยลงลายมือชื่อผู้รับเงิน นางสาวศิริพัตน์และนายสุรชัยพนักงานออกตรวจอุบัติเหตุและเจรจาค่าสินไหมของโจทก์ได้ร่วมลงชื่อเป็นพยาน เห็นว่า บันทึกตกลงค่าเสียหายดังกล่าวไม่มีรายละเอียดระบุว่า เงินช่วยเหลือค่าเสียหาย ๒๐,๐๐๐ บาท ที่นายณรงค์ชัยรับไปเป็นค่าเสียหายใด จำเลยที่ ๑ เบิกความรับว่า ในวันเกิดเหตุนายณรงค์ชัยได้รับบาดเจ็บต้องเดินทางไปโรงพยาบาล และทราบว่าในวันเกิดเหตุนายณรงค์ชัยกับพวกที่นั่งมาในรถยนต์เก๋งจะเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร นายณรงค์ชัยจึงเป็นผู้เสียหายเนื่องจากได้รับบาดเจ็บและไม่อาจใช้รถยนต์เก๋งเดินทางกลับกรุงเทพมหานครได้ ส่วนนางสาวศิริพัตน์ผู้เอาประกันภัยรถยนต์เก๋งมีนายสุรชัยพนักงานของโจทก์เดินทางมาด้วย แสดงว่านางสาวศิริพัตน์ได้เรียกร้องให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดแก่รถยนต์เก๋งแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่นางสาวศิริพัตน์จะตกลงเรื่องค่าเสียหายของรถยนต์เก๋งกับจำเลยที่ ๓ หรือเชิดนายณรงค์ชัยเป็นผู้ตกลงเรื่องค่าเสียหายของรถยนต์เก๋งตามที่จำเลยที่ ๓ อ้าง พยานโจทก์ที่นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยทั้งสามที่นำสืบลอย ๆ ว่า นายณรงค์ชัยตกลงเรื่องค่าเสียหายของรถยนต์เก๋งแทนนางสาวศิริพัตน์ด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าเงินช่วยเหลือค่าเสียหาย ๒๐,๐๐๐ บาท ตามบันทึกการตกลงค่าเสียหายเป็นค่าเสียหายของนายณรงค์ชัย ไม่เกี่ยวกับค่าเสียหายของรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้ บันทึกการตกลงค่าเสียหายดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้มูลละเมิดที่รถยนต์เก๋งซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ระงับสิ้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมรับผิดในมูลละเมิดที่ระงับสิ้นไปแล้วนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๔,๐๐๐ บาท.