คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7607/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีความผิดต่อส่วนตัวจำเลยที่ 3 ฎีกาแต่ผู้เดียว ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ยื่นคำร้อง ขอถอนฟ้อง เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่คัดค้าน ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยได้และสิทธินำ คดีอาญามาฟ้องย่อมระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ศาลฎีกาให้จำหน่ายคดี
วินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 2870/2541

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๘ มาตรา ๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ ๒ หลบหนี ศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล ให้ลงโทษปรับ ๖,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๓ ให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๔ เดือน หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๓ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ไม่คัดค้าน
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒) ให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ .

Share