แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้จัดการมรดกเป็นจำเลย คงฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งไม่ใช่ทายาท ขอให้กำจัดทายาทมิให้รับมรดกเนื่องจากปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดก และให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินมรดกที่กระทำโดยมิชอบเพื่อโอนที่ดินกลับมาเป็นของเจ้ามรดกตามเดิม กรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติอายุความ 5 ปี มาใช้บังคับแก่คดีได้
ในการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. เพื่อให้ลายพิมพ์นิ้วมือนั้นถือเสมือนกับการลงลายมือชื่อ และจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินโฉนดส่วนหนึ่งเนื่องจากได้ซื้อไว้จาก ส. นานแล้ว ไม่ใช่รับโอนที่ดินมาในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกซึ่งเป็นสามีของ ส. เมื่อจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินมาโดยมีค่าตอบแทนและกระทำการโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์จึงเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 3 ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมหนังสือมอบอำนาจของนางสังวาลย์ ฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2529 ที่ให้จำเลยที่ 1 ทำการแทน เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2258, 2266, 2470, 2476 และ 13489 โดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 โอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของนายเล็กตามเดิม หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้า ห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เข้ายุ่งเกี่ยวหรือครอบครองที่ดินทั้งห้าแปลงนั้นอีกต่อไป กำจัดสิทธิในการรับมรดกของจำเลยที่ 1 ทั้งหมด และกำจัดสิทธิในการรับมรดกของจำเลยที่ 5 และที่ 6 เพียงเท่าที่ได้รับไปเพียงบางส่วน และให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 มอบโฉนดที่ดินทั้งห้าแปลงไว้ต่อศาล
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นางสำลี และนางอุไร บุตรนายเล็กและนางสังวาลย์ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต โดยให้เรียกนางสาลีว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และเรียกนางอุไรว่า โจทก์ร่วมที่ 2 ต่อมาโจทก์ร่วมที่ 2 ถอนคำร้องขอ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ร่วมที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2258 และ 2266 ระหว่าง นางสังวาลย์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเล็กกับจำเลยที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 2476 ระหว่าง นางสังวาลย์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเล็กกับจำเลยที่ 1 เฉพาะส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่ดินโฉนดเลขที่ 2470 ระหว่างนางสังวาลย์กับจำเลยที่ 1 และที่ดินโฉนดเลขที่ 13489 ระหว่าง นางสังวาลย์กับจำเลยที่ 6 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกาว่า การจัดการมรดกเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2529 เมื่อนับถึงวันฟ้องวันที่ 20 พฤศจิกายน 2534 เกินกว่า 5 ปี คดีขาดอายุความแล้วนั้น เป็นการฎีกายกอายุความฟ้องผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับการจัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้จัดการมรดกเป็นจำเลย คงฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกและจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งไม่ใช่ทายาท ขอให้กำจัดทายาทมิให้รับมรดกเนื่องจากปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดก และให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินมรดกที่กระทำโดยมิชอบเพื่อให้โอนที่ดินมรดกกลับมาเป็นของเจ้ามรดกตามเดิม กรณีไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว คดีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติอายุความ 5 ปี มาใช้บังคับแก่คดีนี้ดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น…
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่าว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2470 ระหว่างนางสังวาลย์กับจำเลยที่ 3 หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนางสังวาลย์ที่พิมพ์ลายนิ้วมือลงในหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จัดการโอนมรดกที่ดินแทนและโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2470 ให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 ทราบดีว่าเป็นที่ดินมรดกมีภาระผูกพันทายาท จำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนางสังวาลย์ดังกล่าวก็เพื่อให้ลายพิมพ์นิ้วมือนั้นถือเสมือนกับการลงลายมือชื่อ และจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2470 ส่วนหนึ่งเนื่องจากได้ซื้อไว้จากนางสังวาลย์นานแล้ว ไม่ใช่รับโอนที่ดินมาในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายเล็ก จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินนั้นมาโดยมีค่าตอบแทนและกระทำการโดยสุจริตตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 โจทก์เรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2470 ระหว่างนางสังวาลย์กับจำเลยที่ 3 ไม่ได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาในประเด็นข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.