คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3368/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้างกำหนดให้พนักงานมีหนังสือขอรับเงินบำเหน็จจากนายจ้างภายใน 6 เดือน นับแต่วันออกจากงาน แต่ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวมิได้มีข้อจำกัดตัดสิทธิพนักงานที่ไม่ทำหนังสือแสดงความประสงค์ขอรับเงินบำเหน็จภายในกำหนด การที่โจทก์ทำหนังสือเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน จำเลยไม่ชำระ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ย่อมเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จแก่โจทก์ได้
ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 เป็นสินจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) มีอายุความ 2 ปี หาใช่ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 ไม่
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินค้ำประกันการทำงาน และเงินบำเหน็จ มิใช่เงินที่จะต้องจ่ายทันทีเมื่อมีการเลิกจ้างเช่นเดียวกับค่าชดเชยซึ่งเป็นผลตามกฎหมายอันเกิดสิทธิบังคับให้ชำระหนี้ทันที แต่ผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวจะต้องทวงถามก่อน เมื่อไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อทวงถาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง หาใช่นับแต่วันเลิกจ้างไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต่าง ๆ อันได้แก่ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินบำเหน็จตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย รวมจำนวนทั้งสิ้น 6,167,848.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 14 สิงหาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยเป็นเงิน 2,274,870 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไป เงินบำเหน็จเป็นเงิน 1,943,118.13 บาท เงินค้ำประกันการทำงานเป็นเงิน 1,305,313.50 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 568,717.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การจ่ายเงินบำเหน็จจะต้องเป็นไปตามระเบียบเกี่ยวกับเงินบำเหน็จพนักงานสหธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด พ.ศ.2510 และตามระเบียบโจทก์จะต้องมีหนังสือขอรับเงินบำเหน็จจากจำเลยภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ออกจากงาน แต่ระเบียบดังกล่าว ก็มิได้มีข้อจำกัดตัดสิทธิพนักงานที่ไม่ทำหนังสือแสดงความประสงค์ขอรับเงินบำเหน็จภายในกำหนด ดังนั้น การที่โจทก์ทำหนังสือเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวและจำเลยได้รับแล้วตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2546 แต่จำเลยไม่ชำระ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ย่อมเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จ 1,943,118.13 บาท แก่โจทก์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 6 วัน ที่โจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 32 อันเป็นบทกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่โจทก์ถูกเลิกจ้าง กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างประจำเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และข้อ 45 กำหนดว่า ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ 47 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามข้อ 10 และข้อ 32 ดังนั้น เงินดังกล่าวจึงเป็นสินจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 10 กันยายน 2546 จึงเกินกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิได้คือวันที่ถูกเลิกจ้าง (วันที่ 14 สิงหาคม 2541) ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับเรื่องนี้จึงขาดอายุความแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินค้ำประกันการทำงานของโจทก์และเงินบำเหน็จนั้น มิใช่เงินที่จะต้องจ่ายทันทีเมื่อมีการเลิกจ้างเช่นเดียวกับค่าชดเชยซึ่งเป็นผลตามกฎหมายอันเกิดสิทธิบังคับให้ชำระหนี้ทันที แต่ผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวจะต้องทวงถามลูกหนี้หรือจำเลยก่อน ต่อเมื่อลูกหนี้หรือจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อทวงถามแล้วตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง กรณีนี้ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไป หาใช่นับแต่วันเลิกจ้างดังโจทก์เข้าใจไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน.

Share