คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1779/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าตามที่ปรากฏบนตัวสินค้าของโจทก์และจำเลยทั้งสองมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกัน กล่าวคือ ส่วนกลางมีคำว่า “SUPER GLUE” ในกรอบสี่เหลี่ยม ส่วนล่างเป็นสีดำมีคำบรรยายเป็นตัวหนังสือภาษาอังกฤษสีขาวว่า ” for WOOD – RUBBER – PLASTICS – METAL – PAPER & LEATHER Cyanoacrylate Adhesive NET. 3 g ” และส่วนบนมีแถบสีดำ แม้คำว่า “SUPER GLUE” และคำบรรยายที่อยู่ในส่วนล่างทั้งหมดเป็นคำสามัญ ซึ่งในการขอจดทะเบียนโจทก์ได้แสดงปฏิเสธสิทธิว่า ไม่ให้สิทธิแก่ผู้ขอจดทะเบียนแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรคำว่า “SUPER GLUE” และคำบรรยายทั้งหมดก็ตาม แต่รูปลักษณะ ขนาด การจัดวาง ตำแหน่งและทิศทางของตัวอักษร ทั้งหมดดังกล่าว ตลอดจนการให้สีสันของตัวอักษรและสีพื้นเหมือนหรือคล้ายกันจนเกือบจะเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน คงแตกต่างกันแต่คำว่า “ALTECO” กับ “GIANT” ในแถบสีดำส่วนบน ซึ่งแม้จำเลยทั้งสองจะมีสิทธิใช้คำว่า “GIANT” เพราะเป็นคำสามัญก็ตาม แต่เนื่องจากตัวอักษรมีขนาดเล็ก จำนวนตัวอักษรก็ใกล้เคียงกันคือคำว่า “ALTECO” ประกอบด้วยตัวอักษร 6 ตัว ส่วนคำว่า “GIANT” ประกอบด้วยตัวอักษร 5 ตัว ต่างกันเพียง 1 ตัว และสีของตัวอักษรเป็นสีขาวจัดวางอยู่ในแถบสีดำส่วนบนทำนองเดียวกัน บุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป ซึ่งไม่คุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศอาจหลงเข้าใจผิดไปได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน ส่อแสดงว่าเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าของจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะทำให้เหมือนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ประกอบกับหลอดกาวมีขนาด รูปร่าง และอยู่ในแผงบรรจุภัณฑ์ลักษณะเช่นเดียวกัน ทั้งยังถูกใช้กับสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าของโจทก์ ดังนั้นย่อมถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าของจำเลยทั้งสองเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 109, 110, 115 ป.อ. มาตรา 32, 33, 83, 90, 272, 274, 275 และริบของกลางทั้งหมด
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์มีมูลเฉพาะข้อหาตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 ประกอบมาตรา 109 จึงให้ประทับฟ้องเฉพาะฐานความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 ประกอบมาตรา 109
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ป.อ. มาตรา 83 จำเลยที่ 1 ให้ลงโทษปรับ 200,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 200,000 บาท แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตัวต่อไป โทษจำคุกจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า คำว่า “ALTECO SUPER GLUE” โดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้ากาวเคมี และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2532 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้ากาวเคมีที่มีเครื่องหมายการค้า “GIANT SUPER GLUE” จำนวน 21,708 หลอด มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า เครื่องหมายการค้าที่ติดอยู่กับสินค้าซึ่งจำเลยทั้งสองมีไว้เพื่อจำหน่ายดังกล่าวเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าตามที่ปรากฏบนตัวสินค้าของโจทก์และจำเลยทั้งสองมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกัน กล่าวคือ ส่วนกลางมีคำว่า “SUPER GLUE” ในกรอบสี่เหลี่ยม ส่วนล่างเป็นสีดำมีคำบรรยายเป็นตัวหนังสือภาษาอังกฤษสีขาวว่า “for WOOD – RUBBER – PLASTICS – METAL – PAPER & LEATHER Cyanoacrylate Adhesive NET.3 g” และส่วนบนมีแถบสีดำ แม้คำว่า “SUPER GLUE” และคำบรรยายที่อยู่ในส่วนล่างทั้งหมดเป็นคำสามัญ ซึ่งในการขอจดทะเบียนโจทก์ได้แสดงปฏิเสธสิทธิว่า ไม่ให้สิทธิแก่ผู้ขอจดทะเบียนแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรคำว่า “SUPER GLUE” และคำบรรยายทั้งหมดก็ตาม แต่รูปลักษณะ ขนาด การจัดวางตำแหน่งและทิศทางของตัวอักษรทั้งหมดดังกล่าว ตลอดจนการให้สีสันของตัวอักษรและสีพื้นเหมือนหรือคล้ายกันจนเกือบจะเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน คงแตกต่างกันแต่คำว่า “ALTECO” กับ “GIANT” ในแถบสีดำส่วนบน ซึ่งแม้จำเลยทั้งสองจะมีสิทธิใช้คำว่า “GIANT” เพราะเป็นคำสามัญก็ตาม แต่เนื่องจากตัวอักษรมีขนาดเล็ก จำนวนตัวอักษรก็ใกล้เคียงกันคือคำว่า “ALTEGO” ประกอบด้วยตัวอักษร 6 ตัว ส่วนคำว่า “GIANT” ประกอบด้วยตัวอักษร 5 ตัว ต่างกันเพียง 1 ตัว และสีของตัวอักษรเป็นสีขาวจัดวางอยู่ในแถบสีดำส่วนบนทำนองเดียวกัน บุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป ซึ่งไม่คุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศอาจหลงเข้าใจผิดไปได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน ส่อแสดงว่าเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าของจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะทำให้เหมือนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ประกอบกับหลอดกาวมีขนาด รูปร่าง และอยู่ในแผงบรรจุภัณฑ์ลักษณะเช่นเดียวกัน ทั้งยังถูกใช้กับสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าของโจทก์ ดังนั้นย่อมถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าของจำเลยทั้งสองเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์
พิพากษายืน.

Share