แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขนส่งสินค้าระบบ ซีวาย/ซีวาย เป็นการขนส่งที่ผู้ส่งสินค้าต้นทางจะเป็นผู้ไปรับตู้สินค้าจากผู้ขนส่งไปบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าที่โกดังของผู้ส่งสินค้า แล้วนำตู้สินค้ามามอบให้แก่ผู้ขนส่ง เมื่อขนส่งสินค้าถึงปลายทางแล้วผู้รับตราส่งจะเป็นผู้รับตู้สินค้าไปเปิดตรวจนับสินค้าที่โกดังของผู้รับตราส่งเอง เมื่อใบตราส่งที่จำเลยที่ 1 ออกระบุไว้ว่าสถานที่รับสินค้า โตเกียว ซีวาย สถานที่ส่งมอบสินค้า กรุงเทพ ซีวาย แสดงว่า ในการขนส่งสินค้าพิพาทตั้งแต่จำเลยที่ 1 รับตู้สินค้าจากบริษัท ค. ที่ท่าเรือโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนถึงท่าเรือกรุงเทพ แล้ว บริษัท ค. จะเป็นผู้รับสินค้าไปตรวจนับสินค้าเอง หากสภาพตู้สินค้าและตราผนึกประตูตู้สินค้าอยู่ในสภาพปกติก็ย่อมแสดงว่าสินค้ามิได้สูญหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าก็หาต้องรับผิดในกรณีสินค้าใน ตู้สินค้าสูญหายไปไม่ แต่ตามใบตราส่งที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกให้แก่ผู้ส่งได้ความว่า ตู้สินค้าซึ่งบรรจุสินค้าพิพาทที่โจทก์รับประกันภัยระบุตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลข เอชเอสเอ็มโอแอล 27209 ครั้นจำเลยร่วมขนส่งตู้สินค้า ดังกล่าวมาถึงท่าเรือกรุงเทพ ปรากฏว่าตู้สินค้ามีตราผนึกประตูตู้สินค้าเป็นหมายเลข เอสพีไอซี 051682 ซึ่งไม่ปรากฏว่าเหตุใดตราผนึกประตูตู้สินค้าที่ระบุไว้ในใบตราส่งจึงเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้น การที่จำเลยร่วมออก ใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อรับมอบตู้สินค้า แม้จะได้ระบุหมายเลขตู้สินค้า แต่มิได้ระบุว่าตราผนึกประตูตู้สินค้าคือหมายเลขใด กรณีที่ยังไม่แน่ชัดว่าตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลข เอชเอสเอ็มโอแอล 27209 ถูกเปลี่ยนเป็นหมายเลข เอสพีไอซี 051682 ก่อนหรือภายหลังจากที่จำเลยร่วมรับมอบตู้สินค้าจากท่าเรือสิงคโปร์ เมื่อประตูตู้สินค้าได้ถูกเปิดออกในระหว่างการขนส่งสินค้าจากท่าเรือโตเกียวช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนที่จะถึงท่าเรือกรุงเทพและสินค้าพิพาทที่โจทก์ได้รับประกันภัยสูญหายไป จึงถือได้ว่าความสูญหายเกิดขึ้นขณะที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจึงต้องรับผิดชอบในความสูญหายของสินค้าพิพาทดังกล่าว
พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ให้คำนิยาม “ภาชนะขนส่ง” หมายความว่า ตู้สินค้า ไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล และให้คำนิยาม “หน่วยการขนส่ง” หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง แต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อันหรือหน่วยที่เรียกอย่างอื่น ดังนั้น คำว่า “ตู้” ที่ยกตัวอย่างในคำนิยาม ย่อมหมายความรวมถึงตู้สำหรับบรรจุสินค้าหรือของอย่างหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กต่างจากตู้สินค้าซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและสามารถบรรจุภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าขนาดเล็กดังกล่าวได้เป็นจำนวนมากเพื่อความสะดวกในการขนย้าย ดังนั้น ตู้สินค้าซึ่งเรียกกันในวงการว่า ตู้คอนเทนเนอร์ จึงเป็นภาชนะขนส่ง ส่วน ตู้ เป็นหน่วยการขนส่งดังมาตรา 3 บัญญัติให้คำนิยามไว้โดยชัดแจ้งแล้ว มิใช่ว่า ตู้ หรือ ตู้สินค้ามีความหมายเป็นได้ทั้งหน่วยการขนส่งและภาชนะขนส่ง เมื่อ ตู้สินค้า ไม่ใช่หน่วยการขนส่ง 1 หน่วย จึงไม่อาจที่จะจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่เกิน 10,000 บาท ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน ๔๔๕,๐๗๓.๔๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีในเงินต้น ๔๔๑,๘๙๕.๔๕ บาท นับถัดจากวันฟ้องไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑และจำเลยที่ ๒ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ ๑ ขอให้ศาลเรียกบริษัทริจินอลคอนเทนเนอร์ ไลน์ พีทีอี จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ กับจำเลยร่วมร่วมกันใช้เงิน ๓๔๐,๐๗๓.๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๓๘ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน ๓,๑๗๘.๐๒ บาท ให้จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑๕,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่แพ้คดี ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ให้โจทก์ใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ ๒ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า จำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ ที่จำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมอุทธรณ์เป็นทำนองเดียวกันสรุปได้ว่า การขนส่งสินค้าที่พิพาทในคดีนี้เป็นการขนส่งแบบ ซีวาย/ซีวาย ซึ่งหมายความว่า ผู้ส่งจะรับตู้สินค้าไปบรรจุสินค้าที่โกดังของผู้ส่ง ผู้ส่งเป็นผู้ปิดตู้สินค้าและผนึกตราเองแล้วจึงนำตู้สินค้ามามอบให้แก่ผู้ขนส่ง ดังนั้นจำเลยที่ ๑ จึงไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องกับสินค้าที่บริษัทโคนิก้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บรรจุไว้ในตู้สินค้าเลย เมื่อเรือเน็ดลอยด์ นอร์มังดีของจำเลยที่ ๑ บรรทุกตู้สินค้ามาถึงท่าเรือประเทศสิงโปร์ แล้วจำเลยร่วมรับมอบตู้สินค้าบรรทุกขึ้นเรือนันทภูมิของจำเลยร่วมขนส่งต่อจนถึงท่าเรือกรุงเทพ และขนตู้สินค้าวางบนลานวางตู้สินค้าของ ท่าเรือกรุงเทพแล้ว ความรับผิดของจำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมผู้ขนส่งก็เป็นอันสิ้นสุดทั้งขณะที่มอบตู้สินค้าให้ การท่าเรือแห่งประเทศไทยนั้นสภาพตู้สินค้าและตราผนึกประตูตู้สินค้าก็อยู่ในสภาพเรียบร้อยมิได้มีการชำรุดเสียหาย การที่สินค้าที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายจึงมิได้เกิดขึ้นขณะที่อยู่ในความรับผิดของจำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมแต่อย่างใด จึงหาต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ในการขนส่งสินค้าที่พิพาทในคดีนี้เป็นระบบ ซีวาย/ซีวาย อันเป็นการขนส่งที่ ผู้ส่งสินค้าต้นทางจะเป็นผู้ไปรับตู้สินค้าจากผู้ขนส่งไปบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าที่โกดังของผู้ส่งสินค้า แล้วนำตู้สินค้า มามอบให้แก่ผู้ขนส่ง เมื่อขนส่งตู้สินค้าถึงปลายทางแล้วผู้รับตราส่งจะเป็นผู้รับตู้สินค้าไปเปิดตรวจนับสินค้าที่โกดังของผู้รับตราส่งเองเช่นกัน ซึ่งตามใบตราส่ง ที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกก็ระบุไว้ว่าสถานที่รับสินค้า โตเกียวซีวาย สถานที่ส่งมอบสินค้า กรุงเทพ ซีวาย จึงแสดงว่าในการขนส่งสินค้าที่พิพาทตั้งแต่จำเลยที่ ๑ รับตู้สินค้าจากบริษัทโคนิก้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ท่าเรือโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนถึงท่าเรือกรุงเทพ แล้วบริษัทโคนิก้า (ประเทศไทย) จำกัด จะเป็นผู้รับตู้สินค้าไปตรวจนับสินค้าเองหากสภาพตู้สินค้าและตราผนึกประตูตู้สินค้าอยู่ในสภาพปกติก็ย่อมแสดงว่าสินค้ามิได้สูญหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง จำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าก็หาต้อง รับผิดในการที่สินค้าที่พิพาทในตู้สินค้าสูญหายไปไม่ แต่ข้อเท็จจริงตามใบตราส่งที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกได้ความว่า ตู้สินค้าซึ่งบรรจุสินค้าที่พิพาทที่โจทก์รับประกันภัยระบุตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลข เอชเอสเอ็มโอแอล ๒๗๒๐๙ ครั้นจำเลยร่วมขนส่งตู้สินค้าดังกล่าวมาถึงท่าเรือกรุงเทพ นาย บ. พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ผู้ร่วมเปิด ตู้สินค้าและตรวจนับสินค้าพยานโจทก์เบิกความว่า ตู้สินค้ามีตราผนึกประตูตู้สินค้าเป็นหมายเลข เอสพีไอชี ๐๕๑๖๘๒ ตามสำเนารายการนับจำนวนสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมมิได้นำสืบให้เห็นว่า เหตุใดตราผนึกประตูตู้สินค้าตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง จึงเปลี่ยนไปจากเดิม จำเลยร่วมคงนำสืบแต่เพียงว่า ได้รับตู้สินค้าจากท่าเรือประเทศสิงคโปร์และเมื่อมาถึงท่าเรือกรุงเทพสภาพตู้สินค้าและตราผนึกประตูตู้สินค้าเรียบร้อยไม่ชำรุดเสียหายเท่านั้น ทั้งสำเนาใบตราส่ง เอกสารหมาย ล. ๑ ซึ่งจำเลยร่วมออกให้แก่จำเลยที่ ๑ เมื่อรับมอบตู้สินค้า ก็ระบุแต่เพียงหมายเลข ตู้สินค้า แต่มิได้ระบุว่าตราผนึกประตูตู้สินค้าคือหมายเลขใด ดังนั้นจึงยังไม่แน่ชัดว่าตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลข เอชเอสเอ็มโอแอล ๒๗๒๐๙ ถูกเปลี่ยนเป็นหมายเลข เอสพีไอซี ๐๕๑๖๕๒ ก่อนหรือภายหลังจากที่จำเลยร่วมรับมอบตู้ สินค้าจากท่าเรือสิงคโปร์ การที่ตราผนึกประตูตู้สินค้าถูกเปลี่ยนไปเช่นนี้ จึงทำให้เห็นว่าประตูตู้สินค้าได้ถูกเปิดออกในระหว่างการขนส่งสินค้าจากท่าเรือโตเกียวช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนที่จะถึงท่าเรือกรุงเทพ เมื่อสินค้าที่พิพาทที่โจทก์ได้รับประกันภัยสูญหายไปจึงถือได้ว่าความสูญหายเกิดขึ้นขณะที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วม ผู้ขนส่ง จำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วม จึงต้องรับผิดชอบในความสูญหายของสินค้าที่พิพาทดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ข้อเท็จจริงโดยรับฟังว่าจำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์นั้นเป็นการชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของ จำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ในปัญหาเกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายว่าตู้หรือตู้สินค้า ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า คอนเทนเนอร์ เหมือนกัน มีความหมายเป็นได้ทั้งหน่วยการขนส่งหรือภาชนะขนส่ง ตามบทนิยามศัพท์ใน มาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มิได้มีความหมายว่า ภาชนะขนส่งดังเช่นศาลชั้นต้นวินิจฉัยเท่านั้น เมื่อสำเนา ใบตราส่ง ระบุเพียงจำนวนตู้สินค้า การที่สินค้าสูญหายมีเพียง ๑ ตู้ กรณีจึงต้องถือว่า ตู้สินค้าเป็นหน่วยขนส่ง จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดในความเสียหายไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง ตามมาตรา ๕๘ แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ นั้น เห็นว่า พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓ ให้คำนิยาม หมายความว่า ตู้สินค้า ไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล และให้คำนิยาม “หน่วยการขนส่ง” หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง และแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกอย่างอื่นจากคำนิยามคำว่า “หน่วยการขนส่ง” ย่อมเห็นได้ว่า คำว่า “ตู้” ที่ยกตัวอย่างในคำนิยามนั้น ย่อมหมายความถึงตู้สำหรับบรรจุสินค้าหรือของอย่างหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็ก ต่างจากตู้สินค้าซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและสามารถบรรจุภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าขนาดเล็กดังกล่าวได้เป็นจำนวนมากเพื่อสะดวกในการขนย้าย ดังนั้นตู้สินค้าซึ่งเรียกกันในวงการว่าตู้คอนเทนเนอร์จึงเป็นภาชนะขนส่ง ส่วนตู้เป็นหน่วยการขนส่งดังที่ พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓ บัญญัติให้คำนิยามไว้โดยชัดแจ้งแล้ว มิใช่ว่าตู้หรือสินค้ามีความหมายเป็นได้ทั้งหน่วยการขนส่งและภาชนะขนส่งดังเช่นที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าตู้สินค้าไม่ใช่หน่วยการขนส่ง ๑ หน่วย จึงไม่อาจที่จะจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ได้นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยร่วมใช้ค่าทนายความชั้นนี้ ๕,๐๐๐ บาท แทนโจทก์.