คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1426/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ๆ จะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมจะฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่ากล่าวก็ได้นั้น เป็นการให้อำนาจแก่ผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการบริษัทผู้ทำให้บริษัทเสียหาย ซึ่งโดยปกติบริษัทย่อมเป็นผู้ฟ้องเรียกให้กรรมการผู้นั้นชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ส่วนผู้ถือหุ้นจะเป็นผู้ฟ้องตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ได้นั้น จะต้องฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัท เฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมขายสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นโมฆะ หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงิน 60,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทเซเว่นซีส์ แฟชั่น ซิสเต็มส์ (ไทย) จำกัด โจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกันตั้งบริษัทเซเว่นซีส์ แฟชั่น ซิสเต็มส์ (ไทย) จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2530 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 219931 และ 219932 ตำบลหนองบอน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร จากบริษัทแลนด์แอนด์เฮาส์ เรียลเอสเตท จำกัด และทำสัญญาว่าจ้างบริษัทแลนด์แอนด์เฮาส์ คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ปลูกสร้างอาคารเลขที่ 2/3 ในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ลงนามแทนบริษัท ต่อมาจำเลยที่ 1 นำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารไปขายหรือสละสิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยมิชอบ ทำให้บริษัทเสียหาย ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะและให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โอนที่ดินและอาคารคืนแก่บริษัทเซเว่นซีส์ แฟชั่น ซิสเต็มส์(ไทย) จำกัด เห็นว่า โจทก์ฟ้องโดยอาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ๆ จะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้องผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่ากล่าวก็ได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจแก่ผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการบริษัทผู้ทำให้บริษัทเสียหาย ซึ่งโดยปกติบริษัทย่อมเป็นผู้ฟ้องเรียกให้กรรมการผู้นั้นชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ส่วนผู้ถือหุ้นจะเป็นผู้ฟ้องตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ต้องฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทเฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมขายสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นโมฆะเช่นนี้ หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้เป็นกรรมการบริษัท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ถึงที่4 ตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกัน เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ให้การต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 18365/2534 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share