คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3592/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์ที่ 2 กับนายสมชัยและจำเลยตกลงเข้าร่วมลงทุนกับโจทก์ที่ 1 โดยจะจดทะเบียนเพิ่มทุนจาก 1,000,000 บาท เป็น6,000,000 บาท ในการเพิ่มทุนครั้งนี้โจทก์ที่ 2 และนายสมชัยจะต้องชำระเงินคนละ2,000,000 บาท ส่วนจำเลยจะโอนทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการของโจทก์ที่ 1 มาตีราคาในการเพิ่มทุน ต่อมาโจทก์ที่ 2 ชำระเงิน 2,000,000 บาท และนายสมชัยชำระเงิน1,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้วโจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 3,000,000 บาท ให้แก่จำเลย แม้ฟ้องโจทก์ตอนนี้จะบรรยายว่า เพื่อเป็นการซื้อทรัพย์สินจากจำเลย อันมีความหมายว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของจำเลยก็ตาม แต่เมื่ออ่านฟ้องโจทก์ทั้งหมดโดยตลอดแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีความประสงค์จะให้จำเลยโอนทรัพย์สินให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามข้อตกลงเข้าร่วมลงทุนโดยมิได้คำนึงว่าทรัพย์สินดังกล่าวจะเป็นของจำเลยหรือเป็นของผู้อื่น ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขัดกัน และจำเลยก็เข้าใจข้อหาต่อสู้คดีได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยชำระเงินค่าทรัพย์สินดังกล่าวให้จำเลยไม่ครบถ้วนดังนี้ ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลย โจทก์ที่ 2 และนายสมชัย ไชยศุภรากุล เป็นกรรมการ และกรรมการผู้ซึ่งลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทได้ คือกรรมการสองคนร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท จำเลยให้การว่าในการแต่งตั้งนายสุรัตน์ แสงจันทร์รุ่ง เป็นทนายความดำเนินคดีแทน โจทก์ที่ 1 มิได้ลงลายมือชื่อกรรมการสองคนและประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 ให้ถูกต้องตามข้อบังคับการแต่งตั้งทนายความให้ดำเนินคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องคำให้การจำเลยดังกล่าวไม่ได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าตราประทับในใบแต่งทนายความของโจทก์ที่ 1 เป็นดวงตราปลอม คดีย่อมไม่มีประเด็นในปัญหาดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ว่าตราประทับในใบแต่งทนายความของโจทก์ที่ 1 เป็นดวงตราปลอม จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.พ.พ.มาตรา249 วรรคหนึ่ง จำเลยชักชวนโจทก์ที่ 2 และ ส.เข้าร่วมลงทุนในบริษัทโจทก์ที่ 1 โดยจดทะเบียนเพิ่มทุนจาก 1,000,000 บาท เป็น 6,000,000 บาท โจทก์ที่ 2 และ ส.ลงทุนคนละ 2,000,000 บาท ส่วนจำเลยนำทรัพย์สินตีราคาเป็นทุน 6,000,000 บาทการเพิ่มทุนของโจทก์ที่ 1 มีการกำหนดสัดส่วนในการลงทุน จำนวนกรรมการและอำนาจกรรมการที่จะลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทไว้โดยชัดแจ้ง เมื่อจำเลยได้รับเงินจากโจทก์ที่ 1เป็นเงิน 3,000,000 บาท แล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามข้อตกลงร่วมลงทุน หากโจทก์ที่ 1 ยังค้างชำระเงินให้แก่จำเลยเท่าใด จำเลยชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่โจทก์ที่ 1 เป็นคดีใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม ๒๕๓๖ โจทก์ที่ ๒ และนายสมชัย ไชยศุภรากุล ได้ตกลงกับจำเลยเข้าร่วมลงทุนในบริษัทโจทก์ที่ ๑ จากทุนจดทะเบียน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยจะจดทะเบียนเพิ่มทุนเป็น ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาทโจทก์ที่ ๒ และนายสมชัยตกลงเข้าร่วมลงทุนคนละ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนจำเลยจะโอนทรัพย์สินมีรถขุด ๔ คัน รถยนต์ ๘ คัน อุปกรณ์ติดเครื่องจักรและอื่น ๆ ที่ใช้อยู่ในกิจการของโจทก์ที่ ๑ มีราคา ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นการเพิ่มทุน ต่อมาโจทก์ที่ ๒ชำระเงินให้โจทก์ที่ ๑ แล้ว ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท นายสมชัยชำระแล้ว ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทต่อมาโจทก์ที่ ๑ ได้จ่ายเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยเพื่อเป็นการชำระค่าซื้อทรัพย์สินของจำเลยดังกล่าว แต่จำเลยผิดสัญญาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินและโอนกรรมสิทธิ์รถขุดดิน ๔ คัน ทำให้โจทก์ที่ ๑ ไม่อาจนำทรัพย์สินดังกล่าวมาดำเนินธุรกิจเพื่อหาผลประโยชน์ในทางการค้าได้รับความเสียหายเดือนละ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบและโอนรถขุดดินโคมัสสุพีซี ๓๐๐ พร้อมหัวเจาะ รถขุดดินยูตานิวายเอส ๑๐๐ ทะเบียน ๔ ต – ๓๑๖๐ พร้อมหัวเจาะ ทะเบียน๑ ต – ๗๘๓๕ พร้อมหัวเจาะ และทะเบียน ๔ ต – ๒๙๗๐ พร้อมหัวเจาะ รวมทั้งทรัพย์สินอื่นของจำเลยให้แก่โจทก์ที่ ๑ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ทั้งสองนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะส่งมอบและโอนทรัพย์สินตามฟ้องให้แก่โจทก์ที่ ๑
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ที่ ๑ แต่งตั้งทนายความดำเนินคดีนี้โดยกรรมการมิได้ลงชื่อ ๒ คน และประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ ๑ เป็นการไม่ชอบ โจทก์ที่ ๒ ไม่มีอำนาจฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว จำเลยตกลงขายทรัพย์สินตามฟ้องให้โจทก์ที่ ๑ มีราคา ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่โจทก์ที่ ๑ ชำระให้เพียง๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่ต้องโอนทรัพย์สินตามฟ้องให้โจทก์ที่ ๑ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินตามเอกสารหมาย จ.๓ให้แก่โจทก์ที่ ๑ ส่วนที่เป็นรถยนต์และรถขุด ให้จำเลยจัดการทางทะเบียนให้เป็นชื่อโจทก์ที่ ๑ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์ที่ ๑ ใช้ชื่อว่า บริษัท ที เอส ดี เอ็กซ์เพรส จำกัด มีจำเลยเป็นกรรมการเพียงผู้เดียวทุนจดทะเบียน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๖ มีการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อโจทก์ที่ ๑ กับจดทะเบียนเพิ่มทุนเป็น ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และเพิ่มกรรมการเป็น ๓ คน คือ จำเลย โจทก์ที่ ๒ และนายสมชัย ไชยศุภรากุล โจทก์ที่ ๒ ชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท นายสมชัยชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ยังค้างชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนให้แก่โจทก์อยู่อีกเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาโจทก์ที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐บาท ให้แก่จำเลย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ตามฟ้องโจทก์ที่ระบุเกี่ยวกับข้อหาหรือฐานความผิดมีข้อความว่า ผิดสัญญา เรียกค่าเสียหาย เรียกทรัพย์คืน และฟ้องโจทก์ข้อ ๒ยังได้บรรยายว่า จำเลยได้แสดงรายการทรัพย์สินของโจทก์ที่ ๑ หลายรายการ…ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลย แต่ฟ้องโจทก์ข้อ ๓ กลับบรรยายว่าโจทก์ที่ ๑ โอนเงินให้แก่จำเลยเพื่อเป็นการซื้อทรัพย์จากจำเลย ฟ้องโจทก์ขัดแย้งกันจนจำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยโอนทรัพย์สินในฐานะเป็นเจ้าของเรียกเอาทรัพย์คืน หรือเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามข้อตกลงซื้อขายทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ว่าโจทก์ที่ ๑ ได้ซื้อทรัพย์สินจากจำเลยและยังค้างชำระราคาทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์ที่ ๒ กับนายสมชัยและจำเลยตกลงเข้าร่วมลงทุนกับโจทก์ที่ ๑ โดยจะจดทะเบียนเพิ่มทุนจาก ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็น๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในการเพิ่มทุนครั้งนี้โจทก์ที่ ๒ และนายสมชัยจะต้องชำระเงินคนละ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนจำเลยจะโอนทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการของโจทก์ที่ ๑ มาตีราคาในการเพิ่มทุน ต่อมาโจทก์ที่ ๒ ชำระเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท และนายสมชัยชำระเงิน๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ที่ ๑ แล้วโจทก์ที่ ๑ ชำระเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลย แม้ฟ้องโจทก์ตอนนี้จะบรรยายว่า เพื่อเป็นการซื้อทรัพย์สินจากจำเลย อันมีความหมายว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของจำเลยก็ตาม แต่เมื่ออ่านฟ้องโจทก์ทั้งหมดโดยตลอดแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่าโจทก์ที่ ๑ มีความประสงค์จะให้จำเลยโอนทรัพย์สินให้แก่โจทก์ที่ ๑ ตามข้อตกลงเข้าร่วมลงทุนโดยมิได้คำนึงว่าทรัพย์สินดังกล่าวจะเป็นของจำเลยหรือเป็นของผู้อื่น ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขัดกัน และจำเลยก็เข้าใจข้อหาต่อสู้คดีได้ว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยชำระเงินค่าทรัพย์สินดังกล่าวให้จำเลยไม่ครบถ้วน ดังนี้ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง แล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า โจทก์ที่ ๑มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ตราประทับในใบแต่งทนายความของโจทก์ที่ ๑เป็นดวงตราปลอม เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลย โจทก์ที่ ๒ และนายสมชัย ไชยศุภรากุล เป็นกรรมการ และกรรมการผู้ซึ่งลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทได้ คือกรรมการสองคนร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท จำเลยให้การว่าในการแต่งตั้งนายสุรัตน์ แสงจันทร์รุ่ง เป็นทนายความดำเนินคดีแทนโจทก์ที่ ๑ นั้นมิได้ลงลายมือชื่อกรรมการสองคนและประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ ๑ ให้ถูกต้องตามข้อบังคับ การแต่งตั้งทนายความให้ดำเนินคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ ๑ ไม่มีอำนาจฟ้อง คำให้การจำเลยดังกล่าวไม่ได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าตราประทับในใบแต่งทนายความของโจทก์ที่ ๑ เป็นดวงตราปลอม คดีจึงไม่มีประเด็นในปัญหาดังกล่าว ฎีกาของจำเลยข้อนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องส่งมอบและโอนกรรมสิทธิ์รถขุดดินตามฟ้องให้แก่โจทก์ที่ ๑ หรือไม่ โจทก์ที่ ๑ มีโจทก์ที่ ๒ และนายสมชัยเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยชักชวนโจทก์ที่ ๒ และนายสมชัยเข้าร่วมลงทุนในบริษัทโจทก์ที่ ๑ โดยจดทะเบียนเพิ่มทุนจาก ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็น๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ และนายสมชัยลงทุนคนละ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนจำเลยนำทรัพย์สินตามเอกสารหมาย จ.๓ ตีราคาเป็นทุน ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑ ได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยเป็นเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยยังไม่ยอมโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ จึงไม่อาจดำเนินกิจการได้ จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ทรัพย์สินส่วนตัวที่จำเลยนำมาใช้ในกิจการของโจทก์ที่ ๑ มีมูลค่าทั้งสิ้น ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยได้รับเงินไปแล้ว ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยจะโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ ๑ โดยมีเงื่อนไขว่า หลังจากเพิ่มทุนครั้งแรกเป็น๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท แล้วจะต้องมีการเพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่งจนครบ ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาทจำเลยจึงจะโอนทรัพย์สินทั้งหมดให้เป็นของโจทก์ที่ ๑ เห็นว่า การเพิ่มทุนของโจทก์ที่ ๑ มีการกำหนดสัดส่วนในการลงทุน จำนวนกรรมการและอำนาจกรรมการที่จะลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทไว้โดยชัดแจ้ง หากจำเลยนำทรัพย์สินดังกล่าวมาตีราคาเป็นทุน๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท จริงดังที่อ้างก็ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ ๒ และนายสมชัยจะยินยอมเข้าร่วมลงทุนด้วย เพราะทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินเก่า มีการใช้งานมาแล้ว ย่อมเสื่อมสภาพจากการใช้งาน เมื่อพิจารณาถึงจำนวนทุนที่เพิ่มและจำนวนหุ้นที่แต่ละคนถือในบริษัทโจทก์ที่ ๑ แล้วจะเห็นได้ว่าสอดคล้องกับจำนวนเงินที่โจทก์ที่ ๒ และนายสมชัยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ที่ ๑ เพื่อชำระต่อให้จำเลยเป็นค่าโอนทรัพย์สินดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ที่ ๑ นำสืบว่า โจทก์ที่ ๒ จำเลยและนายสมชัยตกลงตีราคาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทุนทั้งสิ้น ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อจำเลยได้รับเงินจากโจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท แล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ ๑ ตามข้อตกลงร่วมลงทุน หากโจทก์ที่ ๑ ยังค้างชำระเงินให้แก่จำเลยเท่าใด จำเลยชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นคดีใหม่
พิพากษายืน.

Share