คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9275/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 271 ที่บัญญัติว่า “…คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น” ภายในกำหนดเวลาสิบปีดังกล่าว เจ้าหนี้ต้องดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วน ประการแรก ต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ประการที่สอง ต้องแจ้งหรือแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว ประการที่สาม ต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าเจ้าหนี้มีความประสงค์ขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้
แม้เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว เจ้าหนี้ก็ยังมีหน้าที่ต้องแถลงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของลูกหนี้ออกขายทอดตลาด แต่เมื่อล่วงเลยระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาแล้ว เจ้าหนี้ยังมิได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของลูกหนี้ เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป เจ้าหนี้คงมีสิทธิเพียงที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่ยึดไว้ให้เสร็จสิ้นไปเท่านั้น
การที่เจ้าหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยในคดีแพ่งเป็นเพียงการปฏิบัติตามขั้นตอนในการบังคับคดีแก่จำเลยเท่านั้น เมื่อหนี้ที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เจ้าหนี้มิได้ดำเนินการบังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวนั้นย่อมเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเสียแล้ว หนี้ดังกล่าวย่อมอยู่ในฐานะเป็นหนี้ที่จะร้องขอให้บังคับคดีไม่ได้ ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 (1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ไว้เด็ดขาดแล้วเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2540 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจำนวน 5,076,768 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า หนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เจ้าหนี้ไม่บังคับชำระหนี้ให้เสร็จภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ลูกหนี้แล้ว จึงต้องห้ามมิให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 (1) เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2540 หลังจากนั้นเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยเป็นจำนวน 5,076,768 บาท เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2540 โดยหนี้รายนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2529 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 19603/2529 ระหว่าง บริษัทสยามยามาฮ่า จำกัด โจทก์ บริษัทสยามเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ที่ 1 นายชัยวัฒน์ ที่ 2 นางสาวสายพร ที่ 3 จำเลย ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,829,466 บาท พร้อมดอกเบี้ย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามที่ขอหรือไม่ เห็นว่า ป.วิ.พ. มาตรา 271 ที่บัญญัติว่า “…คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น” ภายในกำหนดเวลาสิบปีดังกล่าว เจ้าหนี้ต้องดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วนประการแรก ต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ประการที่สอง ต้องแจ้งหรือแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลออกหมายบังคับดคีแล้ว ประการที่สาม ต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าเจ้าหนี้มีความประสงค์ขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ ดังนี้ แม้ว่าภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว เจ้าหนี้ยังมีหน้าที่ต้องแถลงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของลูกหนี้ออกขายทอดตลาด แต่เมื่อล่วงเลยระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาแล้ว เจ้าหนี้ยังมิได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของลูกหนี้เลย เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป เจ้าหนี้มีสิทธิเพียงที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่ยึดไว้ให้เสร็จสิ้นไปเท่านั้น แต่จะขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้หรือจำเลยร่วมตามคำพิพากษาในคดีแพ่งอีกหาได้ไม่
การที่เจ้าหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีแพ่ง ก็เป็นเพียงการปฏิบัติตามขั้นตอนในการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีดังกล่าวเท่านั้น เมื่อหนี้ที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เจ้าหนี้มิได้ดำเนินการบังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวนั้นย่อมเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเสียแล้ว หนี้ดังกล่าวย่อมอยู่ในฐานะเป็นหนี้ที่จะร้องขอให้บังคับคดีไม่ได้ ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 (1) ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำขอรับชำระหนี้นั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน .

Share