คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1 (ข) โดยสรุปว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันดัดแปลงต่อเติมเรือเอี้ยมจุ๊นซึ่งมิใช่เรือที่ทำขึ้นสำหรับขนส่งคนโดยสารโดยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและไม่ได้มาตราฐานโดยต่อเติมชั้นสองของเรือเป็นดาดฟ้า ให้บรรทุกขนส่งคนโดยสารได้ ส่วนของโครงหลังคาชั้นสองมีเสาเหล็กรองรับ 17 ต้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว พื้นดาดฟ้าชั้นสองเป็นเหล็กแผ่นเรียบ หนาประมาณ 1 หุน ยึดติดกับเสาเหล็กไม่แข็งแรง คานรับดาดฟ้าเล็ก และ ดาดฟ้าสูงจากพื้นชั้นล่าง 2.10 เมตร ซึ่งสูงเกินไปไม่สามารถบรรทุกคนโดยสารได้อย่างปลอดภัย และไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ ที่เจ้าพนักงานกรมเจ้าท่าจะออกใบอนุญาตใช้เรือให้เป็นเรือรับจ้างขนส่งคนโดยสารได้ และตามวันเวลาในฟ้องข้อ 1 จำเลยทั้งห้าใช้เรือลำเกิดเหตุบรรทุกคนโดยสารมากถึง 70 คน ซึ่งลักษณะและการบรรทุกน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือแล้วแล่นไปในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ และการกระทำของจำเลยทั้งห้า เป็นความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งจำเลยทั้งห้าจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ แต่จำเลยทั้งห้าหาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เมื่อดาดฟ้าชั้นสองไม่สามารถรับน้ำหนักคนโดยสารเป็นจำนวนมากหักลง เรือเสียการทรงตัวและพลิกคว่ำเป็นเหตุให้คนโดยสารจมน้ำตาย 39 คน ดังนี้ คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและ รายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งห้าเข้าใจข้อหาได้ดี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 233 และ องค์ประกอบของการกระทำโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
แม้การตกลงว่าจ้างเรือทั้งสองลำกระทำในคราวเดียวกัน และมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน แต่เรือที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ใช้กระทำความผิดในคดีนี้กับเรือที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ใช้กระทำความผิดในคดีอาญาของศาลแขวงขอนแก่นเป็นเรือคนละลำกัน สามารถแยกการกระทำออกจากกันได้ กรณีจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ฉะนั้นแม้ศาลฎีกา จะมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาของศาลแขวงขอนแก่น โจทก์ก็ยังมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในคดีนี้ หาเป็นฟ้องซ้ำไม่
เรือโท ส. และเรือเอก ช. พยานโจทก์ทั้งสองจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ หลักสูตร 5 ปี เรือโท ส. รับราชการ ที่กรมเจ้าท่าในตำแหน่ง เจ้าพนักงานตรวจเรือเป็นเวลาประมาณ 3 ปี มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจเรือมาโดยตลอด ส่วนเรือเอก ช. รับราชการเป็นเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 มีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานตรวจเรือตั้งแต่ปี 2510 ถึง 2530 พยานทั้งสอง จึงเป็นผู้ชำนาญการพิเศษในการตรวจเรือ ความเห็นของพยานทั้งสองจึงเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยชี้ขาดและ มีน้ำหนักให้รับฟังได้
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมทุนกันซื้อเรือลำเกิดเหตุซึ่งเป็นเรือเอี่ยมจุ๊นมาต่อเติมดัดแปลงเป็นสองชั้นเพื่อรับจ้าง ขนส่งคนโดยสารไปชมทิวทัศน์ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ยื่นขอใบอนุญาตใช้เรือต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ดูแลเขื่อนอุบลรัตน์ จำเลยที่ 3 มีหน้าที่จัดหาผู้โดยสารเรือ จำเลยที่ 4 มีหน้าที่ออกแบบต่อเติมเรือ และได้ว่าจ้าง จำเลยที่ 1 ควบคุมเรือลำเกิดเหตุซึ่งมีลักษณะน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้นไปใช้รับจ้างขนส่งผู้โดยสารด้วยการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 233 ประกอบด้วยมาตรา 83 เมื่อการกระทำนั้นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 238 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เรือลำเกิดเหตุรับจ้างขนส่งโดยสารโดยเจตนาจนน่าจะเกิดอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 233 กรณีไม่ใช่การกระทำโดยประมาทตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสี่ ซึ่งจะต้องเป็นการกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แม้ผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย อันนอกเหนือจากเจตนาที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลก็ตาม แต่ ป.อ. มาตรา 238 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับโทษหนักขึ้นในผลแห่งการกระทำความผิดตามมาตรา 233 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กรณีเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดจนไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษในบทมาตราดังกล่าวด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๓๓ เวลากลางวัน จำเลยทั้งห้าร่วมกันนำเรือเอี้ยมจุ๊นที่ใช้สำหรับบรรทุกข้าวหรือทราย ตัวเรือเป็นไม้ขนาดยาว ๑๓.๔๐ เมตร กว้าง ๓.๔๐ เมตร ลึก ๑ เมตร เดินด้วยกำลังเครื่องกลขนาด ๖๕ แรงม้า ขนาดเรือ ๑๒.๔๐ ตันกรอส มาแล่นและใช้ขนส่งคนโดยสารในบริเวณอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้เรือ ทั้งมิได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องรับใบอนุญาตใช้เรือ และเรือลำดังกล่าวนั้นมีลักษณะและมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือ กล่าวคือ มีการดัดแปลงเรือดังกล่าวหลายรายการโดยจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันต่อเติมเพิ่มชั้นสองของเรือเป็นดาดฟ้า ส่วนของโครงหลังคาด้านบนชั้นสองมีเสาเหล็กรองรับ ๑๗ ต้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ นิ้ว พื้นดาดฟ้าทำด้วยเหล็กธรรมดา ตัวพื้นใช้เหล็กแผ่นเรียบหนาประมาณ ๑ หุน และยึดติดกับเสาไม้แข็งแรง คานรับดาดฟ้าเล็กเกินไปและดาดฟ้ายังสูงจากพื้นล่าง ๒.๑๐ เมตร ซึ่งสูงเกินไปไม่สามารถนำมาใช้บรรทุกขนส่งคนโดยสารได้อย่างปลอดภัย เพราะจุดศูนย์ถ่วงของเรืออยู่สูงเป็นเหตุให้ตัวเรือรับน้ำหนักชั้นดาดฟ้าไม่สมดุลอาจจะเกิดอันตรายพลิกคว่ำได้ง่าย เนื่องจากวัสดุที่ใช้ไม่ได้ขนาดและไม่แข็งแรงพอ ทั้งลักษณะการต่อเติมและความแข็งแรงของเรือไม่ถูกหลักวิชาการและไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานกรมเจ้าท่าจะออกใบอนุญาตใช้เรือเพื่อให้ใช้เป็นเรือรับจ้างขนส่ง คนโดยสารได้ และไม่สามารถบรรทุกคนโดยสารได้เกินกว่า ๔๕ คน โดยจำนวนนี้สามารถแบ่งบรรทุกคนโดยสาร บนดาดฟ้าชั้นสองได้ไม่เกิน ๑๕ คน แต่จำเลยทั้งห้าก็มิได้กำหนดจำนวนคนโดยสารที่จะใช้บริการโดยสารให้อยู่ในอัตราดังกล่าว โดยจำเลยทั้งห้าใช้เรือลำดังกล่าวเป็นยานพาหนะรับจ้างขนส่งคนโดยสารมากถึง ๗๐ คน และจัดให้ คนโดยสารขึ้นบนชั้นดาดฟ้าชั้นสอง ๔๐ คน แล่นไปในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ โดยใช้เครื่องยนต์เรือหางยาวบังคับท้ายอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายและเป็นการกระทำโดยประมาท ปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งจำเลยทั้งห้าในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์กล่าวคือ จำเลยทั้งห้าจะต้องไม่ใช้เรือดังกล่าวบรรทุกขนส่งคนโดยสารหรือหากใช้บรรทุกขนส่งโดยสาร จำเลยทั้งห้าจะต้องจัดให้คนโดยสารลงเรือไม่เกินกว่า ๔๕ คน และให้ขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้าชั้นสองของเรือไม่เกิน ๑๕ คน พร้อมทั้งจัดหาชูชีพติดเรือไว้ครบตามจำนวนคนโดยสาร ซึ่งจำเลยทั้งห้าอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ กลับนำเรือลำดังกล่าวบรรทุกคนโดยสารจำนวนมาก ทั้งที่รู้ว่าน่าจะเป็นอันตรายแก่คนโดยสารในเรือ เมื่อเรือลำดังกล่าวแล่นออกไปจากฝั่งประมาณ ๑๐๐ เมตร ดาดฟ้าขั้นสองซึ่งรับน้ำหนักมากเกินไปจึงหักลง เรือเสียการทรงตัวและพลิกคว่ำและเนื่องจากเรือดังกล่าวมิได้มีชูชีพไว้ ทำให้คนโดยสารในเรือ จมน้ำจนถึงแก่ความตายรวม ๓๙ คน ตามรายชื่อผู้ตายตามคำฟ้อง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ ๓ ที่ ๒ และที่ ๔ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๕๓๕๗/๒๕๓๔ ของศาลแขวงขอนแก่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๓๓, ๒๓๘, ๒๙๑, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๘๑ มาตรา ๔, ๕, ๙ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๕๐ ( พ.ศ. ๒๕๑๕ ) ข้อ ๒ และนับโทษจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ต่อจากโทษในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ ๕๓๕๗ – ๕๓๕๘/๒๕๓๔ ของศาลแขวงขอนแก่น
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ไม่ได้ให้การถือว่าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๘๑ มาตรา ๙ วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ให้ปรับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ คนละ ๒,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๓๓, ๒๓๘ และ ๒๙๑ อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ในข้อหาใช้ยานพาหนะรับจ้างขนส่งคนโดยสาร เมื่อยานพาหนะนั้นมีลักษณะหรือการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะนั้น และเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก ๑๕ ปี อีกกระทงหนึ่ง รวมลงโทษจำเลยที่ ๑ จำคุก ๑๕ ปี ปรับ ๒,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๗ ปี ๖ เดือน ปรับ ๑,๐๐๐ บาท ส่วนที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๕๓๕๗- ๕๓๕๘/๒๕๓๔ ของศาลแขวงขอนแก่น ให้ยกเสีย เพราะคดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษารอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยดังกล่าว ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ในข้อหาอื่นและให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๕
โจทก์อุทธรณ์ โดยความผิดฐานร่วมกันใช้เรือที่มิได้รับใบอนุญาตใช้เรือ อธิบดีอัยการเขต ๔ ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมอัยการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๓๓, ๒๓๘ วรรคหนึ่ง และ ๒๙๑ ด้วย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ในข้อหาใช้ยานพาหนะรับจ้างขนส่งคนโดยสาร เมื่อยานพาหนะนั้นมีลักษณะหรือการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะนั้น และเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา ๒๓๘ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกคนละ ๑๕ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีฟ้องโจทก์ข้อ ๑ (ข) เคลือบคลุมเพราะโจทก์มิได้บรรยายว่า ดาดฟ้าชั้นสองของเรือลำเกิดเหตุต้องมีความสูงจากพื้นชั้นล่างเท่าใด จึงจะไม่ทำให้เรือเสียสมดุลเสาและคานที่รองรับดาดฟ้สาชั้นสองต้องมีขนาดเท่าใด และรับน้ำหนักได้เพียงใด จึงจะแข็งแรงใช้เป็นยานพาหนะขนส่งคนโดยสารได้อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๓๓ และองค์ประกอบของการกระทำโดยประมาทตามมาตรา ๕๙ วรรคสี่ ทำให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่เข้าใจข้อหาและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้องนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อ ๑ (ข) โดยสรุปว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันดัดแปลงต่อเติมเรือเอี้ยมจุ๊นซึ่งมิใช่เรือที่ทำขึ้นสำหรับขนส่งคนโดยสารโดยไม่ถูกต้องตามหลักวิฃาการและไม่ได้มาตราฐานโดยต่อเติมชั้นสองของเรือเป็นดาดฟ้าให้บรรทุกขนส่งคนโดยสารได้ ส่วนของโครงหลังคาชั้นสองมีเสาเหล็กรองรับ ๑๗ ต้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ นิ้ว พื้นดาดฟ้าชั้นสองเป็นเหล็กแผ่นเรียบ หนาประมาณ ๑ หุน ยึดติดกับเสาเหล็กไม่แข็งแรง คานรับดาดฟ้าเล็ก และดาดฟ้าสูงจากพื้นชั้นล่าง ๒.๑๐ เมตร ซึ่งสูงเกินไปไม่สามารถบรรทุกคนโดยสารได้อย่างปลอดภัย และไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานกรมเจ้าท่าจะออกใบอนุญาตให้เรือใช้เรือให้เป็นเรือรับจ้างขนส่งคนโดยสารได้ และตามวันเวลาในฟ้องข้อ ๑ จำเลยทั้งห้าใช้เรือลำเกิดเหตุบรรทุกคนโดยสารมากถึง ๗๐ คน ซึ่งลักษณะและการบรรทุกน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือแล้วแล่นไปในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ และการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งจำเลยทั้งห้าจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ แต่จำเลยทั้งห้าได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เมื่อดาดฟ้าชั้นสองไม่สามารถรับน้ำหนักคนโดยสารเป็นจำนวนมากหักลง เรือเสียการทรงตัวและพลิกคว่ำเป็นเหตุให้คนโดยสารจำน้ำตาย ๓๙ คน ดังนี้ คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งห้าไดกระทำผิด ข้อเท็จจางและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งห้าเข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๓๓ และองค์ประกอบของการกระทำโดยประมาทตามมาตรา ๕๙ วรรคสี่ คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายอีกว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ในคดีนี้ ซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๕๓๕๗ – ๕๓๕๘/๒๕๓๔ ของศาลแขวงขอนแก่น โดยในคดีดังกล่าวโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยามและความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน แม้เป็นเรือคนละลำกันแต่การตกลงว่าจ้างเรือทั้งสองลำกระทำในคราวเดียวกัน และมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๕๓๕๗ – ๕๓๕๘/๒๕๓๔ ของศาลแขวงขอนแก่น โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ในคดีนี้ไม่ได้นั้น เห็นว่าแม้การตกลงว่าจ้างเรือทั้งสองลำกระทำในคราวเดียวกัน และมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน แต่เรือที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ใช้กระทำความผิดในคดีนี้กับเรือที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ใช้กระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๕๓๕๗ – ๕๓๕๘/๒๕๓๔ ของศาลแขวงขอนแก่น เป็นเรือคนละลำกัน สามารถแยกการกระทำออกจากกันได้ กรณีจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ฉะนั้นแม้ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๕๓๕๗ – ๕๓๕๘/๒๕๓๔ ของศาลแขวงขอนแก่น โจทก์ก็ยังมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ในคดีนี้ หาเป็นฟ้องซ้ำไม่
ที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่มีความผิดฐานร่วมกันใช้ยานพาหนะรับจ้างขนส่งคนโดยสาร เมื่อยานพาหนะนั้นมีลักษณะหรือมีการบรรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลลในยานพาหนะนั้นและเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย กับไม่มีความผิดฐานร่วมกันกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น สำหรับความผิดในข้อหาแรก ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้ร่วมกันซื้อเรือลำเกิดเหตุมาใช้ประกอบกิจการท่องเที่ยวโดยจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นวิศวกรรมออกแบบต่อเติมเป็นเรือสองชั้น และติดเครื่องยนต์เพื่อรับจ้างขนส่งโดยสารแล่นชมทิวทัศน์ในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์โดยไม่ได้จดทะเบียนรับใบอนุญาตใช้เรือ ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมเรือบรรทุกคนโดยสารซึ่งเป็นคณะนักศึกษาและอาจารย์จากวิทยาลัยการสาธารณสุขภาคต่าง ๆ กับวิทยาลัยเภสัชกรรมโรงพยาบาลราชวิถีกรุงเทพมหานคร แล่นไปตามลำน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เมื่อเรือแล่นออกจากท่าไปประมาณ ๑๐๐ เมตร เรือพลิกคว่ำเป็นเหตุให้คนโดยสารถึงแก่ความตาย ๓๙ คน และจากคำเบิกความของเรือโทสีหนาท เจ้าพนักงานตรวจเรือ กับเรือเอกชัยรัตน์ ศรีตุลานนท์ อดีตเจ้าพนักงานตรวจเรือ พยานโจทก์ประกอบบันทึกการตรวจเรือตามเอกสารหมาย ป.จ.๑ (ศาลจังหวัดหนองคาย) ได้ความว่า พยานทั้งสองไปตรวจเรือลำเกิดเหตุหลังเกิดเหตุ พบว่าเรือลำเกิดเหตุเป็นเรือเอี้ยมจุ๊นใช้สำหรับบรรทุกข้าวหรือทราย ตัวเรือทำด้วยไม้ มีขนาดยาว ๑๓.๔๐ เมตร กว้าง ๓.๔๐ เมตร มีการดัดแปลงต่อเติมเป็นเรือสองชั้น ดาดฟ้า ชั้นบนหลุด เสารองรับดาดฟ้าหัก โครงสร้างหลังคาเป็นเหล็กท่อแป๊บยึดติดกัน เสาเหล็กรองรับบางเชื่อมเป็นจุด ไม่ได้เชื่อมรวม ทำให้ไม่แข็งแรง พื้นดาดฟ้าชั้นบนปูด้วยเหล็กแผ่นเรียบขนาดประมาณครึ่งหุน เสาเหล็กรองรับดาดฟ้าสูงเกินไป โดยสูงจากพื้นชั้นล่าง ๒.๑๐ เมตร หากบรรทุกคนโดยสารบนดาดฟ้ามากจะทำให้จุดศูนย์ถ่วงเลื่อนสูงไป ข้างบน เรือโคลงและพลิกคว่ำง่าย ดาดฟ้าชั้นสองหากมีสภาพแข็งแรงจะบรรทุกคนโดยสารได้เพียง ๑๕ คน นอกจากนี้เครื่องยนต์ประจำเรือเป็นแบบเบา ใบจักรยาวติดอยู่กาบเรือด้านซ้ายของท้ายเรือ หากวางเครื่องยนต์อยู่กลางลำจะบังคับเรือได้ง่ายและมีความปลอดภัยมากกว่า เรือลำเกิดเหตุถ้ามีการยื่นาขอจดทะเบียนรับใบอนุญาตใช้เรือจะไม่ได้รับอนุญาต สภาพเรือลำเกิดเหตุปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.๑ ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า พยานโจทก์ทั้งสองไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญในการต่อเรือโดยตรงความเห็นของพยานโจทก์ทั้งสองไม่มีน้ำหนักให้รับฟังนั้น เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ หลักสูตร ๕ ปี เรือโทสีหนาทรับราชการที่กรมเจ้าท่าในตำแหน่ง เจ้าพนักงานตรวจเรือเป็นเวลาประมาณ ๓ ปี มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจเรือมาโดยตลอด ส่วนเรือเอกชัยรัตน์รับราชการเป็นเจ้าท่าภูมิภาคที่ ๗ มีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานตรวจเรือตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ ถึง ๒๕๓๐ พยานทั้งสองจึงเป็นผู้ชำนาญการพิเศษในการตรวจเรือ ความเห็นของพยานทั้งสองจึงเป็นประโยชน์สในการวินิจฉัยชี้ขาดและมีน้ำหนักให้รับฟังได้ และโจทก์มี นางสาววาสนา เสลาหอม นางสาวศรีเพ็ญ แซ่เซ้ง นางสาวกำไร ทารัตน์ นายสงครามชัย ลีทองดี และนายวิมุติ อุทะกัง ซึ่งโดยสารไปกับเรือลำเกิดเหตุเบิกความสอดคล้องต้องกันว่าเรือลำเกิดเหตุมีคนโดยสารประมาณ ๗๐ คน โดยอยู่ชั้นบนประมาณ ๔๐ คน และชั้นล่างประมาณ ๓๐ คน จำเลยที่ ๑ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมเรือลำเกิดเหตุก็เบิกความยอมรับว่า มีคนโดยสารในเรือลำเกิดเหตุตามจำนวนดังกล่าวจริง ข้อเท็จจริงเชื่อว่าลำเกิดเหตุมีคนโดยสารประมาร ๗๐ คน โดยอยู่ชั้นบนประมาณ ๔๐ คน และชั้นล่างประมาณ ๓๐ คน หาใช่มีคนโดยสารทั้งสิ้น ๕๗ คน ดังที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาไม่ และจาก คำเบิกความของเรือโทสีหนาทและเรือเอกชัยรัตน์ประกอบบันทึกการตรวจเรือ ตามเอกสารหมาย ป.จ.๑ (ศาลจังหวัดหนองคาย) กับภาพถ่ายสภาพเรือหมาย จ.๑ เห็นได้ว่าเรือลำเกิดเหตุมิได้สร้างมาเพื่อรับน้ำหนักทางส่วนสูงการดัดแปลงต่อเติมดาดฟ้าชั้นสองในสภาพที่ไม่มั่นคงแข็งแรง และบรรทุกโดยสารชั้นสองมากประมาณ ๔๐ คน ชั้นล่างประมาณ ๓๐ คน ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ ๒ มีหนังสือถึงผู้อำนวยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขต ๒ เขื่อนอุบลรัตน์ เรื่องขอนำเรือท่องเที่ยวมาใช้ในอ่างเก็บน้ำโดยระบุว่า จะนำเรือที่ได้จดทะเบียนรับใบอนุญาตใช้เรือได้ตามกฎหมายมาแล่นใน อ่างเก็บน้ำ โดยโครงสร้างของเรือบรรทุกนักท่องเที่ยวได้ครั้งละ ๓๐ ถึง ๔๐ คน การที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ นำเรือลำเกิดเหตุซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตใช้เรือมาแล่นรับจ้างคนโดยสารในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์จึงเจือสมกับคำเบิกความของ เรือโทสีหนาทและเรือเอกรัตน์ว่า เรือดังกล่าวมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงเสารองรับดาดฟ้าสูงเกินไป หากบรรทุก คนโดยสารบนดาดฟ้ามากจะทำให้จุดศูนย์ถ่วงเลื่อนสูงไปข้างบน เรือโคลงและพลิกคว่ำได้ง่าย และถ้ายื่นขอ จดทะเบียนเพื่อรับใบอนุญาตให้ใช้เรือจะไม่ได้รับอนุญาต และความจากคำเบิกความของนายธีระศักดิ์ จรูญไธสง นายจักรี แข็งการ นางสาวเนตรนภา สวนศรี และนายสมชาย ตามวงศ์ ตลอดจนพยานโจทก์ปากอื่นที่โดยสารไปกับเรือลำเกิดเหตุว่าเรือลำเกิดเหตุแล่นออกจากท่าไปได้ประมาณ ๑๐๐ เมตร ผู้ควบคุมเรือเลี้ยวเรือเพื่อแล่นตามเรืออีกลำหนึ่ง ขณะเดียวกันเสาเรือทางด้านขวาหัก พื้นชั้นสองทางด้านขวาทรุดลง คนโดยสารเลื่อนไหลไปทางด้านขวา ทำให้เรือเอียง ไปทางด้านขวาและพลิกคว่ำในที่สุด โดยไม่ปรากฏว่าคนโดยสารบนดาดฟ้าชั้นสองมีการเต้นรำทำเพลง เหตุที่เรือ พลิกคว่ำจึงเป็นเพราะโครงสร้างดาดฟ้าชั้นสองของเรือและการบรรทุกคนโดยสารเป็นจำนวนมาก ตามลักษณะเรือ ลำเกิดเหตุและการบรรทุกคนโดยสารเท่าที่โจทก์นำสืบมาเห็นได้ตามความรู้ความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปว่าน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงย่อมรู้ลักษณะของเรือดังกล่าวดี การกระทำของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงเป็นการใช้เรือลำเกิดเหตุรับจ้างส่งคนโดยสารโดยเจตนาจนน่าจะเกิดอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๓๓ และเมื่อเป็นเหตุให้คนโดยสารถึงแก่ความตายซึ่งเป็นผลธรรมดาอันเกิดจากการกระทำความผิดดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา ๒๓๘ วรรคหนึ่ง
ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของจำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียว ไม่เกี่ยวกับจำเลยอื่นนั้น เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้ความว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ร่วมทุนกันซื้อเรือลำเกิดเหตุซึ่งเป็น เรือเอี้ยมจุ๊นมาต่อเติมดัดแปลงเป็นเรือสองชั้นเพี่อรับจ้างขนส่งคนโดยสารไปชมทิวทัศน์ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ โดยจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ยื่นขอใบอนุญาตใช้เรือต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ดูแลเขื่อนอุบลรัตน์ จำเลยที่ ๓ มีหน้าที่จัดหาผู้โดยสารเรือ จำเลยที่ ๔ มีหน้าที่ออกแบบต่อเติมเรือ และได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ควบคุมเรือลำเกิดเหตุ ซึ่งมีลักษณะน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น ไปใช้รับจ้างขนส่งคนโดยสารด้วยการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ จึงเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๓๓ ประกอบมาตรา ๘๓ เมื่อการกระทำนั้นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ จึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๓๘ วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ นั้น เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ใช้เรือลำเกิดเหตุรับจ้างขนส่งโดยสารโดยเจตนาน่าจะเกิดอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น อันเป็นความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ วรรคสี่ ซึ่งจะต้องเป็นการกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แม้ผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายอันนอกเหนือจากเจตนาที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล ก็ตามแต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๓๘ วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ รับโทษหนักขึ้นในผลแห่ง การกระทำความผิดตามมาตรา ๒๓๓ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงไม่มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้น เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อีกบทหนึ่ง กรณีเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่๑ มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๑ ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษในบทมาตราดังกล่าวด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓ ประกอบด้วย มาตรา ๒๒๕
ที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ และจำเลยที่ ๓ ฎีกาขอความปรานีต่อศาลนั้น เห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้เบาลง แต่โทษจำคุกของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาล จะรอการลงโทษให้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๓๓, ๒๓๘ วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๖ ปี จำคุกจำเลยที่ ๔ มีกำหนด ๘ ปี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ .

Share