คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5478/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อมีการจำหน่ายทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว มีขั้นตอนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติสองขั้นตอน คือ การจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่าย ขั้นตอนหนึ่ง และการจ่ายเงินตามบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายอีกขั้นตอนหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่าย เสร็จแล้ว ก็ต้องดำเนินการให้มีการจ่ายเงินตามบัญชีนั้นต่อไป ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 316, 318 และ มาตรา 322 วรรคสอง
หลังจากเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายแล้ว ปรากฏว่ายังมิได้มีคำสั่งหรือการ ดำเนินการใดเพื่อให้มีการจ่ายเงินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย เมื่อยังมีขั้นตอนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปฏิบัติอีก เงินส่วนที่เหลือนี้จึงยังไม่เป็นเงินที่ค้างจ่ายอยู่ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีที่ผู้มีสิทธิต้องเรียกเอาเสียภายในห้าปีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 เงินดังกล่าวจึงยังไม่ตกเป็นของแผ่นดิน ดังนี้ เมื่อจำเลยได้เรียกเอาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหน้าที่จ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่จำเลย ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็เห็น สมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ โจทก์จึงบังคับยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๗๙๔๔ ของจำเลยออกขายทอดตลาดได้เงินทั้งสิ้น ๓๖๐,๐๐๐ บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีได้จัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินแก่โจทก์ ให้โจทก์รับรองความถูกต้องของบัญชีและโจทก์ได้รับเงินจากเจ้าพนักงานบังคับคดีไปแล้วเมื่อวันที่ ๒ และวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๓๕ ตามลำดับ คงมีเงินเหลือคืนจำเลย ๒๓๓,๔๖๘.๐๓ บาท จำเลยยื่นคำแถลงขอรับเงินดังกล่าวจาก เจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า เป็นเงินค้างจ่ายเกิน ๕ ปี แล้ว ไม่อาจขอคืนได้ ยกคำแถลง
จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาสมควรวินิจฉัยก่อนว่า เงินที่ได้จากการจำหน่ายทรัพย์ของจำเลยที่เหลือจ่ายคืนแก่จำเลยเป็นเงินค้างจ่ายที่จำเลยต้องเรียกเอาภายในห้าปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๒ หรือไม่ เห็นว่า การจ่ายเงินที่ได้จากการจำหน่ายทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา ๓๑๖ กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีรายละเอียดแสดงจำนวนเงินทั้งหมด ที่ได้มาจากการจำหน่ายทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อจัดสรรหรือแบ่งเฉลี่ยเงินแก่ผู้มีสิทธิ และตามมาตรา ๓๑๘ ในกรณีมีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพียงคนเดียวขอร้องให้บังคับคดี เมื่อได้หักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีไว้แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินตามจำนวนหนี้และค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่าที่เงินรายได้จำนวนสุทธิจะพอจ่ายให้ได้ และหากมีเงินเหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่ เจ้าหนี้ทุกคนเป็นที่พอใจแล้ว มาตรา ๓๒๒ วรรคสอง กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินรายได้ส่วนที่เหลือนั้น ให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงเห็นได้ว่าเมื่อมีการจำหน่ายทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว มีขั้นตอนที่ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติสองขั้นตอน คือ การจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่าย ขั้นตอนหนึ่ง และการจ่ายเงินตามบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายอีกขั้นตอนหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการ รับ – จ่ายเสร็จแล้ว ก็ต้องดำเนินการให้มีการจ่ายเงินตามบัญชีนั้นต่อไป แต่คดีนี้หลังจากเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายแล้ว ปรากฏว่ายังมิได้มีคำสั่งหรือการดำเนินการใดเพื่อให้มีการจ่ายเงินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยซึ่งเมื่อยังมีขั้นตอนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปฏิบัติอีก เงินที่เหลือนี้จึงยังไม่เป็นเงินที่ค้างจ่ายอยู่ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีที่ผู้มีสิทธิต้องเรียกเอาเสียภายในห้าปีตามมาตรา ๓๒๓ เงินดังกล่าวจึงยังไม่ตกเป็นของแผ่นดิน และเมื่อจำเลยได้เรียกเอาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหน้าที่จ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่จำเลย ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและเมื่อได้วินิจฉัยในปัญหานี้แล้ว คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาว่า ระยะเวลาห้าปีตามมาตรา ๓๒๓ เริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยมีสิทธิหรือตั้งแต่วันที่จำเลยรู้ว่ามีสิทธิตามที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งต่อไป
พิพากษากลับ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินจำนวน ๒๓๓,๔๖๘.๐๓ บาท แก่จำเลย

Share