คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8158/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยต้องการวางแผนการกระทำผิดมิให้มีผู้อื่นมาขัดขวาง หลังเกิดเหตุจำเลยก็หลบหนีไป เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้หลังเกิดเหตุเพียง 6 วัน พร้อมของกลางที่ยึดคืนมาได้หลายรายการที่เป็นหลักฐานชี้ชัดว่าจำเลยได้กระทำผิดแม้จำเลยไม่ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาของศาล จำเลยก็ไม่มีทางที่จะปฏิเสธให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ จำเลยจึงรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน
จำเลยกับพวกวางแผนจับ ณ. และ ป. ผู้ตายทั้งสองเพื่อบังคับให้ออกเช็ค เมื่อผู้ตายทั้งสองออกเช็คแล้วก็ยังฆ่า ผู้ตายอีก ส่อแสดงถึงเจตนาร้ายมาแต่ต้น การฆ่าโดยใช้ค้อนปอนด์ซึ่งใช้ทุบพื้นซีเมนต์ทุบตีที่บริเวณต้นคอด้านหลังขณะที่ ณ. ถูกขึงพื่าดนอนคว่ำหน้าบนเตียงนอนและใช้เชือกไนล่อนรัดคอผู้ตายทั้งสองซ้ำในสภาพที่ผู้ตายถูกมัดมือ มัดเท้าเป็นวิธีการฆ่าที่ดุร้ายยิ่งกว่าการทำให้ตายตามปกติธรรมดาส่อแสดงว่าจำเลยกับพวกมีจิตใจโหดร้ายอำมหิตผิดมนุษย์ทั่วไป ถือได้ว่าเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้าย
โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่าร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาต หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพ ปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีหรือใช้อาวุธปืน ฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน และกระทำทารุณโหดร้ายเพื่อจะเอาไว้ซึ่งทรัพย์สินอันเกิดแต่การปล้นทรัพย์ ปกปิดความผิดอื่นของตนและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ซ้อนเร้นหรือทำลายศพ ปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอม ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคท้าย กับฐานอื่นดังกล่าวทุกฐานความผิด และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำผิด ดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 ลงโทษเฉพาะฐานใช้ตั๋วเงินปลอม แสดงว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1ฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีหรือใช้อาวุธปืน และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฐานเป็นตัวการร่วมกระทำผิด กับจำเลยที่ 1 ฐานทุกความผิดแล้วที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์และ โจทก์ร่วมนำสืบฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีหรือใช้อาวุธปืน ตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ทุกฐานความผิดจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

ย่อยาว

โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 188, 199, 264, 265, 266, 268, 288, 289, 309, 310, 340, 340 ตรี, 357 วรรคสอง, 83, 91, 33 พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 73,800 บาท แก่ทายาทหรือกองมรดกของผู้ตาย ริบเฉพาะอาวุธปืน กระสุนปืน ค้อนปอนด์ และอาวุธมีดปลายแหลมของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายประเสริฐ ผู้เสียหาย และในฐานะผู้สืบสันดานของนายณรงค์กับนางมาลี ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ยกเว้นข้อหามีอาวุธปืนของผู้อื่นกับเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานซ่อนเร้นหรือย้ายศพเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (5) (7) รวม 2 กระทง และมาตรา 289 (7) อีกกระทงหนึ่ง ซึ่งแต่ละกระทงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 188, 266 (4), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4), 309 วรรคสอง, 310 วรรคสอง, 339 วรรคท้าย อันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 289 (5) (7) รวม 2 กระทง และมาตรา 289 (7) อีกกระทงหนึ่ง อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตทั้งสามกระทง ความผิดตามมาตรา 199 จำคุก 1 ปี ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสาม จำคุก 1 ปี เมื่อรวมโทษความผิดทุกกระทงแล้วคงให้ประหารชีวิต การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ความผิดตามมาตรา 289 (5) (7) ประกอบมาตรา 86, 87 รวม 2 กระทง และมาตรา 289 (7) ประกอบมาตรา 86, 87 อีกกระหนึ่ง ซึ่งแต่ละกระทงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 188, 266 (4), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4), 309 วรรคสอง, 310 วรรคสอง, 339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 86, 87 อันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 289 (5) (7) ประกอบมาตรา 86, 87 รวม 2 กระทง และมาตรา 289 (7) ประกอบมาตรา 86, 87 อีกกระทงหนึ่ง อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิตทั้งสามกระทง ความผิดตามมาตรา 199 ประกอบมาตรา 86, 87 จำคุก 8 เดือน เมื่อรวมโทษความผิดทุกกระทงแล้วคงให้จำคุกตลอดชีวิต ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี จำเลยที่ 4 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก, 266 (4), 268 วรรคแรก ประกอบ มาตรา 266 (4) การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ความผิดตามมาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 3 ปี ความผิดตามมาตรา 266 (4), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4) ให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4) ตามมาตรา 268 วรรคสอง กระทงหนึ่ง และมาตรา 266 (4) อีกกระทงหนึ่ง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี เมื่อรวมโทษความผิดทุกกระทงแล้ว คงจำคุก 9 ปี ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนเงินสดจำนวน 62,000 บาท แก่ทายาทผู้ตาย และร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 11,800 บาท แก่โจทก์ร่วม ริบค้อนปอนด์และอาวุธมีดปลายแหลมของกลาง คืนอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางให้แก่เจ้าของ ข้อหาอื่นของจำเลยทั้งสี่และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานใช้ตั๋วเงินอันเป็นเอกสารสิทธิปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4) เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 9 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง มีคนร้ายจับตัวนายณรงค์ นางมาลี และนางสาวปทุมทอง ผู้ตายทั้งสามมัดด้วยเชือกและผ้า หน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ภายในร้านแสนชัยพานิช แล้วบังคับให้นายณรงค์กับนางสาวปทุมทองลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและกรอกข้อความในเช็ค และนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามฟ้องเอาเงินตามเช็คนั้นไปพร้อมกับทรัพย์สินอื่นอีกหลายรายการ แล้วคนร้ายได้ใช้ค้อนปอนด์ของกลางทุบตีศรีษะนายณรงค์ และใช้เชือกกับผ้ารัดคอจนผู้ตายทั้งสามถึงแก่ความตายตามลำดับแล้ว นำศพผู้ตายใส่โอ่งใช้ปูนซีเมนต์โบกทับและนำไปทิ้ง ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสี่ได้พร้อมทรัพย์สินของผู้ตายบางส่วน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 กับนายไพศาลร่วมกันจับผู้ตายทั้งสาม และบังคับนายณรงค์กับนางสาวปทุมทองให้ลงลายมือชื่อและกรอกข้อความในเช็คเพื่อเบิกถอนเงินและได้ใช้ค้อนปอนด์ตีศรีษะนายณรงค์ โดยวางแผนการร่วมกันมาก่อน การที่จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนว่าได้นำค้อนปอนด์มาให้นายไพศาลไว้ใช้ควบคุมผู้ตายทั้งสามนั้นไม่น่ารับฟัง เพราะขณะนั้นผู้ตายทั้งสามถูกมัดขึงพืดอยู่บนเตียงไม่มีทางที่จะขัดขืนต่อสู้ได้เลย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าบาดแผลของผู้ตายทั้งสามไม่น่าจะเป็นผลจากการกระทำของนายไพศาลโดยลำพัง จึงมิใช่เป็นการคาดคะเนเอาเอง จำเลยที่ 1 วางแผนให้จำเลยที่ 2 ชักชวนนายวาและนายเงี๊ยบไปเที่ยวพัทยาอีก ทั้ง ๆ ที่คนทั้งสองเพิ่มจะกลับมาจากการเที่ยวที่พัทยากับผู้ตายในวันเดียว แสดงให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ต้องการวางแผนการกระทำผิดเพื่อมิให้นายวาและนายเงี๊ยบขัดขวาง หลังเกิดเหตุก็หลบหนีไป เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ได้หลังเกิดเหตุเพียง 6 วัน พร้อมของกลางที่ยึดคืนมาได้หลายรายการ ของกลางดังกล่าวโดยเฉพาะต้นขั้วสมุดเช็คพร้อมเช็คของนายณรงค์ก็ยึดได้จากจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นหลักฐานชี้ชัดว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิด ซึ่งแม้จำเลยที่ 1 ไม่ให้การรับสารภาพก็ไม่มีทางที่จะปฏิเสธให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้เลย จำเลยที่ 1 จึงกระทำผิดเพราะจำนนต่อหลักฐาน อีกทั้งคดีนี้จำเลยที่ 1 กับพวกวางแผนจับนายณรงค์กับนางสาวปทุมทองเพื่อบังคับให้ออกเช็ค และเมื่อผู้ตายทั้งสองออกเช็คแล้วก็ยังฆ่าผู้ตายอีกอันส่อแสดงถึงเจตนาร้ายมาแต่ต้น การฆ่าโดยใช้ค้อนปอนด์ซึ่งใช้ทุบพื้นซีเมนต์ทุบตีที่บริเวณต้นคอด้านหลังขณะที่นายณรงค์ถูกขึงพืดนอนคว่ำหน้าบนเตียงนอนและใช้เชือกไนล่อนรัดคอผู้ตายทั้งสามซ้ำในสภาพที่ผู้ตายทั้งสามถูกมัดมือมัดเท้าเช่นนี้เป็นวิธีการฆ่าที่ดุร้ายยิ่งกว่าการทำให้ตายตามปกติธรรมดา ส่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีจิตใจโหดร้ายอำมหิตผิดมนุษย์ทั่วไป เชื่อได้ว่าเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้าย ศาลล่างทั้งสองพิพากษาโดยไม่ลดโทษให้จำเลยที่ 1 เหมาะสมแล้ว
ที่โจทก์ร่วมฎีกาประการแรกว่า พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีหรือใช้อาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี และฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ทุกฐานความผิดนั้น เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องในส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่าร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาต หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพ ปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีหรือใช้อาวุธปืน ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้ายเพื่อจะเอาไว้ซึ่งทรัพย์สินอันเกิดแต่การปล้นทรัพย์ ปกปิดความผิดอื่นของตนและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ ซ่อนเร้นหรือทำลายศพ ปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอม ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคท้าย กับฐานอื่นดังกล่าวทุกฐานความผิด และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำผิดดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 ลงโทษเฉพาะฐานใช้ตั๋วเงินปลอม แสดงว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีหรือใช้อาวุธปืน และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ทุกฐานความผิดแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้นจึงต้องห้าม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมมาโดยไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share