คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9318/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธุรกรรมของจำเลยที่เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปยื่นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว โดยการจะใช้จำนวนเงินสงเคราะห์ ย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ยื่นคำขอ ธุรกรรมดังกล่าวจึงเป็นการรับประกัน ชีวิตตาม ป.พ.พ. มาตรา 889
เมื่อจำเลยยอมรับว่า ช. ผู้เอาประกันมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้ และจำเลยจะต้องผูกพันตนในการที่จะต้องพิจารณาอนุมัติตามคำขอหรือไม่ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันรับฝากเงิน หากจำเลยปฏิบัติงานในความรับผิดชอบของตนให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ซึ่งขณะนั้น ช. ยังมีชีวิตอยู่ จำเลยย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ได้ เมื่อกรมธรรม์ออกให้แก่ ช. ล่าช้าเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานจำเลยเพียงฝ่ายเดียว จำเลยย่อมไม่อาจนำข้อกำหนดในตอนท้ายของคำขอเปิดบัญชีฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิต และครอบครัวที่ระบุว่า “ข้าพเจ้า (ผู้เอาประกัน) ยอมรับว่าธนาคารยังไม่มีข้อผูกพันใด ๆ กับข้าพเจ้าจนกว่าธนาคาร จะได้ออกกรมธรรม์การฝากเงินให้แล้ว…” ซึ่งมีความหมายมุ่งเฉพาะกรณีผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตาม หลักเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้มาเป็นข้ออ้างปฏิเสธความรับผิดโดยมิชอบด้วยความเป็นธรรมหาได้ไม่ และต้องถือว่าสัญญารับประกันชีวิตมีขึ้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันฝากเงินแล้ว ทั้งข้อกำหนดในเรื่องการออกกรมธรรม์ ไม่อาจถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนในเรื่องความเป็นผลแห่งสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นายเชิงชาย ว่องไว ได้เปิดบัญชีฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบร่มไทร กับจำเลย สาขาคลองหลวง และฝากเงินเข้าบัญชีได้ ๒ งวด เป็นเงิน ๑,๔๐๐ บาท วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ นายเชิงชาย ถึงแก่กรรม วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ จำเลยออกกรมธรรม์ให้โดยไม่ทราบว่านายเชิงชายถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว การออกกรมธรรม์ของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่จำเลยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญว่านายเชิงชายยังมีชีวิตอยู่ กรมธรรม์จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย ทั้งขณะเปิดบัญชีฝากเงินนายเชิงชายได้ทราบถึงเงื่อนไขการฝากเงินแล้วว่า การเปิดบัญชีฝากเงิน ยังไม่มีผลผูกพันจำเลยจนกว่าจำเลยจะออกกรมธรรม์ให้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามกรมธรรม์ให้แก่โจทก์ ตามคำขอเปิดบัญชีของนายเชิงชายกำหนดให้โจทก์และนางสุวนิตย์ วันประกอบ เป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินได้เพียงครึ่งเดียวของเงินสงเคราะห์แต่ละประเภทเป็นเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๑) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๕,๐๐๐ บาท ค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว เห็นว่า ธุรกรรมของจำเลยในการเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปยื่นคำขอเปิดบัญชีฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบร่มไทร โดยการจ่ายจำนวนเงินสงเคราะห์ย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ยื่นคำขอ ก็คือการรับประกันชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๙ ปรากฏว่าเมื่อนางสาวอรุณีได้รับคำขอและเงินฝากงวดแรกจากนายเชิงชาย ขั้นตอนในการปฏิบัติงานซึ่งพนักงานของจำเลยจะต้องปฏิบัติต่อไป คือนางสาวอรุณีต้องส่งเรื่องไปให้นายจิระศักดิ์ คำอักษร ผู้อำนวยการภาค ๑ ของจำเลยเพื่อพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่ภายใน ๑ เดือน นับแต่จำเลยได้รับเงินฝากงวดแรกของนายเชิงชาย คือไม่เกินวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ สำหรับข้อเท็จจริงในคดีก็ปรากฏว่านายจิระศักดิ์ได้พิจารณาอนุมัติให้ออกกรมธรรม์ให้แก่นายเชิงชาย ย่อมแสดงชัดว่าจำเลยยอมรับว่านายเชิงชายมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้ ส่วนข้อกำหนดในตอนท้ายของคำขอเปิดบัญชีฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบร่มไทรที่ว่า “ข้าพเจ้ายอมรับว่าธนาคารยังไม่มีข้อผูกพันใด ๆ กับข้าพเจ้า จนกว่าธนาคารจะได้ออกกรมธรรม์การฝากเงินให้แล้ว…” นั้น ย่อมมีความหมายมุ่งเฉพาะกรณีผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้เท่านั้น ทั้งนี้โดยจำเลยจะต้องผูกพันตนในการที่จะต้องพิจารณาอนุมัติตามคำขอหรือไม่ภายในกำหนด ๑ เดือน นับแต่วันรับฝากเงิน ซึ่งจะเห็นได้ว่าจำเลยเพิ่งจะออกกรมธรรม์ให้แก่นายเชิงชายเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ล่วงเลยเวลา ๑ เดือน ที่จะต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จไปถึง ๑๐ วัน และเฉพาะข้อเท็จจริง ในคดีนี้จะเห็นได้ว่าหากจำเลยปฏิบัติงานในความรับผิดชอบของตนให้แล้วเสร็จภายใน ๑ เดือน ระยะเวลาที่จำเลยจะต้องออกกรมธรรม์ให้แก่นายเชิงชายอย่างช้าที่สุดก็คือภายในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ซึ่งขณะนั้นนายเชิงชายยังมีชีวิตอยู่ อีกทั้งนายเชิงชายยังได้ส่งเงินฝากงวดที่ ๒ จำนวน ๗๐๐ บาท ให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ก่อนวันครบกำหนดคือวันที่ ๓ ถึงสองวันด้วยกัน จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ได้ ดังนี้ เมื่อกรมธรรม์ออกให้แก่นายเชิงชายล่าช้าเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานจำเลยเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น จำเลยจึงจะนำข้อกำหนด ในตอนท้ายของคำขอเปิดบัญชีฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบร่มไทรมาเป็นข้ออ้างปฏิเสธความรับผิดโดยมิชอบด้วยความเป็นธรรมหาได้ไม่ โดยสำหรับข้อเท็จจริงในคดีนี้ต้องถือว่าสัญญารับประกันชีวิตระหว่างนายเชิงชายกับจำเลยชอบที่จะต้องมีขึ้นภายในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ส่วนข้อกำหนดในเรื่องการออกกรมธรรม์ไม่อาจถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนในเรื่องความเป็นผลแห่งสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดตามกรมธรรม์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share