คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8599/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ ฯ มาตรา 23 วรรคสอง บังคับให้ศาลต้องไต่สวนก่อนมีคำพิพากษาตามหรือปฏิเสธคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก็เพื่อที่จะให้รับฟังข้ออ้างหรือข้อเถียงของแต่ละฝ่ายเป็นที่ชัดแจ้งก่อน จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่จะต้องเสนอข้อเท็จจริงต่อศาล และไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องเรียกตัวผู้เป็นอนุญาโตตุลาการมาไต่สวนด้วยก่อนมีคำพิพากษาแต่อย่างใด เมื่อคู่ความไม่นำอนุญาโตตุลาการเข้าเบิกความ ผู้คัดค้านจะฎีกาว่าศาลชั้นต้นมิได้ไต่สวนตัวอนุญาโตตุลาการหาได้ไม่
เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมีคำพิพากษาตามหรือปฏิเสธคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว จึงห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทกันจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด เว้นแต่การอุทธรณ์นั้นจะเป็นไปตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ ฯ มาตรา 26 (1) (2) (3) (4) (5)
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า อนุญาโตตุลาการกับผู้ร้องหลอกลวงให้มีการสืบพยานบุคคลแทนที่จะพิจารณาชี้ขาดตามเอกสารที่มีอยู่เป็นการรับฟังพยานบุคคลมาหักล้างพยานเอกสารอันฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 94 ที่แสดงว่าอนุญาโตตุลาการมีความประสงค์จะใช้ข้ออ้างในคำเบิกความของพยานที่เป็นเท็จของ พ. มากล่าวอ้างหักล้างพยานเอกสารตามแผนการที่อนุญาโตตุลาการได้สมคบผู้ร้องไว้แล้วตั้งแต่เมื่อเริ่มต้นคดีชั้นอนุญาโตตุลาการ เพื่อประสงค์เพียงอย่างเดียวคือให้ฝ่ายผู้ร้องชนะ เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านอ้างว่า อนุญาโตตุลาการกระทำการไม่สุจริตและผู้ร้องใช้กลฉ้อฉลคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบ ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ ฯ มาตรา 26 (1)
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับผู้คัดค้านตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมาจากมูลเหตุข้อพิพาทเกี่ยวกับการผิดสัญญาซื้อขายมีจำนวนเงินเกินกว่า 500 บาท เมื่อไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้รับผิดเป็นสำคัญแล้ว จะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ สัญญาซื้อขายที่ผู้ร้องอ้างฟ้องร้องผู้คัดค้านนั้นไม่อาจที่จะนำมาฟ้องร้องได้ เพราะผู้คัดค้านมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญา ซึ่งหากไม่มีการตั้งอนุญาโตตุลาการแล้ว ผู้ร้องก็ไม่อาจที่จะนำคดีมาฟ้องร้องบังคับผู้คัดค้านได้ เพราะขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 456 ซึ่งเป็นบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เป็นการอุทธรณ์ที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คือฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 456 ไม่อาจที่จะบังคับผู้คัดค้านได้นั่นเอง จึงหาเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้าน ย่อมเป็นการไม่ชอบ
แม้การซื้อขายที่มีราคาเกินกว่า 500 บาท มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับผิดเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็หาใช่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ เพราะสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านได้เกิดขึ้นแล้วโดยชอบ เพียงแต่จะฟ้องร้องบังคับกันได้หรือไม่จำต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น นอกจากนี้คำคัดค้านของผู้คัดค้านในชั้นอนุญาโตตุลาการผู้คัดค้านมิได้ยกข้ออ้างที่ว่าการตกลงซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายผู้คัดค้านไว้เป็นสำคัญที่ผู้ร้องไม่อาจยกขึ้นบังคับดังกล่าวแต่อย่างใด การที่อนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยความผูกพันระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเฉพาะเรื่องความรับผิดในการที่ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายแล้วมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้อง จึงเป็นการชอบแล้ว

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวข้างต้นจำนวน 1,194,601 ดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25.05 บาท เป็นเงิน 29,924,755.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จและค่าอากรแสตมป์ที่ผู้ร้องชำระแทนไป 15,530 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 29,924,755.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ผู้คัดค้านชำระค่าอากรแสตมป์ปิดตามคำชี้ขาดตาม ป. รัษฎากร ที่โจทก์ชำระไปแทนเป็นเงิน 15,530 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยชั้นนี้ว่า ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใด ๆ เกี่ยวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ศาลชั้นต้นจะต้องไต่สวนตัวผู้เป็นอนุญาโตตุลาการก่อนหรือไม่ ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลเห็นว่าคำชี้ขาดใดไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทนั้น หรือเป็นคำชี้ขาดที่เกิดจากการกระทำหรือวิธีการอันมิชอบอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมิได้อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการที่มีผลผูกพันตามกฎหมายหรือคำขอของคู่กรณี ให้ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้น” เป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลทำการตรวจสอบหรือรื้อฟื้นทบทวนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก่อนที่ศาลชั้นต้นจะทำการบังคับตามคำชี้ขาดให้ผู้ร้องด้วยวิธีไต่สวนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 วรรคสอง ว่า “เมื่อศาลได้รับคำร้องขอตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รีบทำการไต่สวนและมีคำพิพากษาโดยด่วน ทั้งนี้ต้องให้คู่ความกรณีฝ่ายที่จะถูกบังคับมีโอกาสคัดค้านก่อน” ดังนั้น เมื่อฝ่ายที่จะถูกบังคับได้คัดค้านแล้ว ศาลต้องทำการไต่สวนเพื่อให้กระจ่างว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เป็นคำชี้ขาดที่ชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทนั้นหรือไม่ คำชี้ขาดเกิดจากการกระทำหรือวิธีการอันชอบอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ คำชี้ขาดอยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการที่มีผลผูกพันตามกฎหมายหรือคำขอของคู่กรณีหรือไม่ กรณีจึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและตัวผู้เป็นอนุญาโตตุลาการผู้ทำคำชี้ขาดนั้น เห็นว่า ที่คู่กรณีต้องการระงับข้อพิพาททางแพ่งกันโดยทางอนุญาโตตุลาการนอกศาลนั้นก็ด้วยต่างพึงเล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะได้รับว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาขัดแย้งระหว่างกันได้โดยสะดวกรวดเร็ว ไม่สิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่าย พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง จึงบัญญัติให้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณี เพียงแต่ไม่มีสภาพบังคับเท่านั้น ดังนั้น หากคู่กรณีฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจึงต้องร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก่อน จึงบังคับให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามได้ ทั้งนี้ก็ด้วยกฎหมายมีวัตถุประสงค์ให้ศาลได้ทบทวนกระบวนการพิจารณาและคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหาสาเหตุที่คู่กรณีอีกฝ่ายที่ไม่ยอมปฏิบัติตาม ทั้ง ๆ ที่ต่างฝ่ายตกลงกันยอมให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างกันแล้วตั้งแต่ต้น ซึ่งการที่ศาลต้องทบทวนหาสาเหตุดังกล่าวก็คือ การที่ต้องพิจารณาว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายที่จะบังคับแก่ข้อพิพาทหรือไม่ หรือเป็นคำชี้ขาดที่เกิดจากการกระทำหรือวิธีการอันมิชอบอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ หรือเป็นคำชี้ขาดมิได้อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการที่มีผลผูกพันตามกฎหมายหรือคำขอของคู่กรณีหรือไม่ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ดังที่ผู้คัดค้านฎีกานั่นเอง ดังนั้น การที่ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 23 วรรคสอง บังคับให้ศาลต้องไต่สวนก่อนมีคำพิพากษาตามหรือปฏิเสธคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ก็เพื่อที่จะให้รับฟังข้ออ้างหรือข้อเถียงของแต่ละฝ่ายเป็นที่ชัดแจ้งก่อน จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่จะต้องเสนอข้อเท็จจริงต่อศาล โดยการนำพยานหลักฐานเข้าสืบตามข้ออ้างหรือข้อเถียงของฝ่ายตนเพื่อให้ศาลได้รับฟังวินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนได้ความว่า ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างอ้างระบุพยานมีชื่อผู้เป็นอนุญาโตตุลาการเป็นพยานฝ่ายตน แต่กลับไม่มีฝ่ายใดนำเข้าเบิกความเป็นพยานฝ่ายตนเลย ทำให้เห็นว่าผู้คัดค้านไม่ติดใจที่จะสืบตัวผู้เป็นอนุญาโตตุลาการ ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้ไต่สวนตัวผู้เป็นอนุญาโตตุลาการก่อนเป็นการไม่ชอบนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องเรียกตัวผู้เป็นอนุญาโตตุลาการมาไต่สวนด้วยก่อนมีคำพิพากษาแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีโดยไม่มีการนำสืบตัวผู้เป็นอนุญาโตตุลาการนั้นจึงเป็นการชอบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า อุทธรณ์ของผู้คัดค้านต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 หรือไม่ เห็นว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นถือว่าเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีเป็นแต่หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว ยังไม่อาจที่จะบังคับได้จนกว่าจะได้มีการนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อให้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก่อน ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมีคำพิพากษาตามหรือปฏิเสธคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว จึงห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทั้งนี้ไม่ต้องคำนึงว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทกันจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด เว้นแต่การอุทธรณ์นั้นจะเป็นไปตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 (1) (2) (3) (4) (5) จึงจะอุทธรณ์ได้ คือ (1) มีข้ออ้างแสดงว่าอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดมิได้กระทำโดยสุจริต หรือคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กลฉ้อฉล (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน (3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ (4) ผู้พิพากษาซึ่งไต่สวนคดีนั้นมีความเห็นแย้ง หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ (5) เป็นคำสั่งที่เกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่กรณีในระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 18 ดังนี้ การที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า อนุญาโตตุลาการกับผู้ร้องหลอกลวงให้มีการสืบพยานบุคคลแทนที่จะพิจารณาชี้ขาดตามเอกสารที่มีอยู่เป็นการรับฟังพยานบุคคลมาหักล้างพยานเอกสารอันฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 94 ที่แสดงว่าอนุญาโตตุลาการมีความประสงค์จะใช้ข้ออ้างในคำเบิกความของพยานที่เป็นเท็จของนายพงษ์ศักดิ์ ตังหงส์ มากล่าวอ้างหักล้างพยานเอกสารตามแผนการที่อนุญาโตตุลาการได้สมคบผู้ร้องไว้แล้วตั้งแต่เมื่อเริ่มต้นคดีชั้นอนุญาโตตุลาการ เพื่อประสงค์เพียงอย่างเดียวคือให้ฝ่ายผู้ร้องชนะนั่นเอง เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านอ้างว่าอนุญาโตตุลาการกระทำการไม่สุจริตและผู้ร้องใช้กลฉ้อฉล คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบ ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 (1)…
ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับผู้คัดค้านตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมาจากมูลเหตุข้อพิพาทเกี่ยวกับการผิดสัญญาซื้อขายมีจำนวนเงินเกินกว่า 500 บาท เมื่อไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้รับผิดเป็นสำคัญแล้ว จะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ สัญญาซื้อขายที่ผู้ร้องอ้างฟ้องร้องผู้คัดค้านนั้นไม่อาจที่จะนำมาฟ้องร้องได้ เพราะผู้คัดค้านมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญา ซึ่งตามแนวทางการค้าระหว่างประเทศนั้น สัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอของผู้ร้องเท่านั้น การซื้อขายจริงจะต้องมีการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเข้ามาและมีการซื้อขายเป็นครั้งตามที่เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต หากไม่มีการตั้งอนุญาโตตุลาการแล้ว ผู้ร้องก็ไม่อาจที่จะนำคดีมาฟ้องร้องบังคับผู้คัดค้านได้ เพราะขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 456 ซึ่งเป็นบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ก็เป็นการอุทธรณ์ที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คือฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 456 ไม่อาจที่จะบังคับผู้คัดค้านได้นั่นเอง จึงหาเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านย่อมเป็นการไม่ชอบ แต่เพื่อไม่ให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างล่าช้า ประกอบกับผู้คัดค้านได้ฎีกาปัญหาดังกล่าวขึ้นมาด้วยแล้ว ศาลฎีกาแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นควรวินิจฉัยคดีให้โดยไม่จำต้องย้อนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาก่อน ตามปัญหาดังกล่าวแม้การซื้อขายที่มีราคาเกินกว่า 500 บาท มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับผิดเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 ดังที่ผู้คัดค้านฎีกาก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็หาใช่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ เพราะสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านได้เกิดขึ้นแล้วโดยชอบ เพียงแต่จะฟ้องร้องบังคับกันได้หรือไม่ จำต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น นอกจากนี้ คำคัดค้านของผู้คัดค้านในชั้นอนุญาโตตุลาการผู้คัดค้านมิได้ยกข้ออ้างที่ว่า การตกลงซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายผู้คัดค้านไว้เป็นสำคัญ ที่ผู้ร้องไม่อาจยกขึ้นบังคับดังกล่าวแต่อย่างใด การที่อนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยความผูกพันระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเฉพาะเรื่องความรับผิดในการที่ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายแล้วมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้อง จึงเป็นการชอบแล้ว เมื่อผู้คัดค้านไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยที่ผู้คัดค้านก็ยอมรับในคำคัดค้านของผู้คัดค้านว่าจะยอมผูกพันตนตามคำสั่งกระบวนพิจารณาและกฎระเบียบของข้อบังคับอนุญาโตตุลาการ จนเป็นเหตุให้ผู้ร้องนำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อให้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่จะใช้บังคับผู้คัดค้านต่อไป ซึ่งศาลชั้นต้นได้ไต่สวนและมีคำสั่งมานั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ที่บัญญัติไว้โดยชอบแล้วดังวินิจฉัยมาแต่ต้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่มีส่วนใดขัดต่อบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังเช่นที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นด้วยในผล ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
พิพากษายืน.

Share