คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9326/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1 ให้คำนิยามคำว่า “ใบจอง”ว่าหมายถึง หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว จากคำนิยามดังกล่าวถือได้ว่าทางราชการยังไม่ได้ให้สิทธิครอบครองอย่างเด็ดขาดแก่จำเลย จำเลยมีเพียงแต่สิทธิเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โดยต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับข้อกำหนด รวมทั้งเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด แต่ในระหว่างที่จำเลยได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินพิพาท จำเลยจะต้องอยู่ภายในบังคับของพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 8 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ที่ดินที่ได้รับใบอนุญาตให้จับจอง…ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดโดยมรดก เมื่อการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนาย ค. กับจำเลยยังอยู่ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนดังกล่าวนิติกรรมการซื้อขายและส่งมอบที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแม้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทจะครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อจากนาย ค. มานานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ที่ดินพิพาทยังเป็นของรัฐอันบุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองภายหลังจากประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับในปี 2497 แล้ว จึงมิใช่ผู้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ทั้งการยึดถือครอบครองของโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการต้องห้ามตามประมวล-กฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

Share