คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7521/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นบุตรของ ส.กับ อ. เมื่อ อ.ถึงแก่กรรม ส.ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับ ช. ต่อมา ช.ถึงแก่กรรม ผู้ร้องจึงร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ช.ดังนี้ เมื่อ ช.ถึงแก่กรรม กองมรดกของ ช.ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยชอบธรรมหรือโดยพินัยกรรม ผู้ร้องเป็นบุตรของ ส.กับ อ. มิได้เป็นบุตรของ ช.เจ้ามรดกไม่ปรากฏว่า ช.จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของ ช.โดยตรง อีกทั้ง ช.มีทายาทที่จะรับมรดกโดยตรงอยู่แล้ว ผู้ร้องจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกได้
การที่ ส.มารดาของผู้ร้องเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของ ช.คงเพียงแต่ก่อให้เกิดสิทธิที่ผู้ร้องจะฟ้องขอแบ่งโดยอ้างว่ามีส่วนของ ส. มารดาผู้ร้องร่วมด้วยเท่านั้น ซึ่งผู้ร้องชอบไปว่ากล่าวเป็นอีกส่วนหนึ่ง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านระบุว่า อ.ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาว ช.ผู้เยาว์ และข้อความในคำคัดค้านบรรยายว่า ผู้คัดค้านในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทั้งสามเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ฟังได้ว่าเป็นคำคัดค้านของผู้เยาว์ทั้งสามโดยมารดาคัดค้านแทน ดังนั้น แม้ต่อมานางสาว ช.ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ และ อ.ไม่อยู่ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมอีกต่อไป ก็ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีแทนในขณะยื่นคำคัดค้าน แต่เมื่อปรากฏว่าผู้เยาว์ได้บรรลุนิติภาวะแล้ว อ.ไม่อยู่ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมอีกต่อไป ศาลฎีกาสมควรตั้งนางสาว ช.เป็นผู้จัดการมรดกของ ช.

Share