คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7290/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถาน-แห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 7 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “การขึ้นทะเบียนโบราณสถานตามความในวรรคก่อน ถ้าโบราณสถานนั้นมีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่พอใจ ก็ให้มีสิทธิร้องต่อศาลภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่อธิบดีแจ้งให้ทราบ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้อธิบดีระงับการขึ้นทะเบียนและหรือการกำหนดเขตที่ดินให้เป็นโบราณสถาน แล้วแต่กรณีได้ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอต่อศาล หรือศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ยกคำร้องขอของเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้อธิบดีดำเนินการขึ้นทะเบียนได้” นั้น มีความมุ่งหมายเพียงให้อธิบดีกรมศิลปากรแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโบราณสถานทราบเท่านั้น มิใช่เป็นการขออนุญาตแต่อย่างใด แม้จะมีการประกาศกำหนดเขตที่ดินเป็นเขตโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 28,217 ไร่ โดยกรมศิลปากรจำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ผู้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนประกาศ แต่ก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวทราบว่าจำเลยที่ 1จะดำเนินการประกาศกำหนดเขตที่ดินบริเวณนั้นให้เป็นเขตโบราณสถาน จึงถือได้ว่าเป็นการประกาศขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นโบราณสถานโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ที่ดินพิพาทเป็นที่ตั้งของกำแพงเมืองเชลียงซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยมีร่องรอยเป็นแนวกำแพงเมืองผ่านตลอดริมฝั่งใต้ของแม่น้ำยมในบริเวณที่ดินพิพาทมีก้อนศิลาแลงโบราณปรากฏอยู่ นอกจากนี้ในที่ดินพิพาทยังมีบ่อน้ำโบราณอยู่โดยมีก้อนศิลาแลงโบราณทรงโค้งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบ่อน้ำโบราณถูกนำมาก่อสร้างเป็นขั้นบันไดริมตลิ่งแม่น้ำยมด้วย แม้จะไม่มีแนวกำแพงเมืองในที่ดินพิพาทเนื่องจากมีการขุด ทำลายกำแพงเมืองในที่ดินพิพาทและที่ดินส่วนอื่นแต่ก็ยังมีซากหรือเศษส่วนของแนวกำแพง ก้อนศิลาแลงปรากฎอยู่เป็นหลักฐานถือได้ว่าบริเวณที่พิพาทมีโบราณสถานอยู่จริง การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและคำสั่งให้โจทก์ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนสิ่งก่อสร้างของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

Share