คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6847/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งศาลเห็นชอบด้วยแล้วนั้น มีความว่า ข้อ 1. ลูกหนี้ที่ 2 ยอมชำระค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามมาตรา130 (1)-(7) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 โดยเต็มจำนวนและในทันทีเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ข้อ 2 นอกจากหนี้ที่กล่าวในข้อ 1 ลูกหนี้ที่ 2 ยอมชำระบรรดาหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้แล้วเป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้มีกำหนดดังนี้ คือ งวดแรกชำระร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้ภายในวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ส่วนที่เหลือจะชำระภายใน 1 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 งวด งวดละเท่า ๆ กัน โดยมีกำหนด 4 เดือน ต่อ 1 งวด ข้อ 3.หนี้ตามข้อ 1. และ 2. นั้น ลูกหนี้ที่ 2 จะชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อปรากฏว่ามีเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 จำนวน 10 รายซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้และคดีถึงที่สุดแล้วจำนวน 9 ราย แม้คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3 คดียังไม่ถึงที่สุดก็เป็นเพียงทำให้ไม่สามารถคำนวณค่าธรรมเนียมตามมาตรา 130 (4) กับจำนวนเงินที่ต้องวางชำระร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ข้อ 1. และข้อ 2. เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3 นี้เท่านั้น แต่สำหรับค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามมาตรา130 (1)-(7) และจำนวนที่ต้องชำระร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งเก้ารายซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้และคดีถึงที่สุดแล้ว มิใช่ไม่อาจคำนวณได้ และหากต้องรอให้คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทุกรายถึงที่สุดก่อนย่อมไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ในรายที่คดีถึงที่สุดซึ่งจะทำให้ได้รับชำระหนี้ล่าช้าออกไป ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อตกลงในการประนอมหนี้ซึ่งกำหนดเวลาการชำระหนี้ไว้โดยชัดแจ้งลูกหนี้ที่ 2 จะนำเหตุที่คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3 ยังไม่ถึงที่สุดมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในการประนอมหนี้เสียทั้งหมดเลยหาได้ไม่เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมและเงินที่ต้องชำระแก่เจ้าหนี้ตามคำขอประนอมหนี้ไปวางชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่ 2 ก็ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการวางเงินโดยอ้างว่ากำลังรวบรวมเงินอยู่ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้โอกาสให้เลื่อนการวางเงินออกไปตามที่ลูกหนี้ที่ 2 ขอแต่เมื่อครบกำหนดแล้วลูกหนี้ที่ 2 กลับเพิกเฉยเสีย ย่อมเป็นข้อแสดงว่าลูกหนี้ที่ 2ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ ถือได้ว่าลูกหนี้ที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ ศาลชอบที่จะมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 2 ล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 60วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาด และคำพิพากษาให้ล้มละลายลับหลังลูกหนี้ที่ 2 โดยในวันนัดลูกหนี้ที่ 2 ไม่ได้มาฟังคำสั่งและคำพิพากษาและระยะเวลานับแต่วันปิดหมายถึงวันอ่านคำสั่งและคำพิพากษาเป็นเวลาน้อยกว่า15 วัน เป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง ประกอบกับพระราชบัญญัติ-ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 ซึ่งเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ.มาตรา 27 ประกอบกับพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 แม้จะมีผลที่ให้ถือว่าลูกหนี้ที่ 2 ทราบวันนัดอ่านคำสั่งและคำพิพากษาไม่ได้ และถือว่าลูกหนี้ที่ 2ยังไม่ทราบคำสั่งและคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นได้อ่านนั้นก็ตาม แต่ต่อมาลูกหนี้ที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์ แสดงว่าลูกหนี้ที่ 2 ได้ทราบคำสั่งและคำพิพากษานั้นแล้ว ลูกหนี้ที่ 2 จึงไม่ได้รับผลเสียหายใด ๆ จากการอ่านคำสั่งและคำพิพากษาที่ผิดระเบียบนั้นเลย จึงไม่มีประโยชน์ที่จะเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยให้ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำสั่งและคำพิพากษาใหม่

Share