แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 8 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 8 เป็นที่ทำการสาขาของจำเลยที่ 7 จำเลยที่ 8 จึงมิได้เป็นนิติบุคคลอันอาจถูกฟ้องให้รับผิดได้
จำเลยที่ 7 เป็นธนาคาร มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามเช็คที่ผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงินแก่ตน เช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 นำไปขอเบิกเงินไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 991 ที่จำเลยที่ 7 จะไม่จ่ายเงินให้ และไม่ใช่กรณีที่หน้าที่และอำนาจของจำเลยที่ 7 ที่จะจ่ายเงินตามเช็คสิ้นสุดลงตามมาตรา 992 จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 7 จะปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 นำไปขอเบิกเงิน เช็คเป็นตราสารที่ออกใช้แทนเงินสดเพื่อความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและคล่องตัวในการประกอบธุรกิจดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ-ระมัดระวังตามควรแก่หน้าที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจเช่นที่จะพึงปฏิบัติก็นับว่าเป็นการ-เพียงพอแล้ว จำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 ลูกจ้างของจำเลยที่ 7 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้จำเลยที่ 1 ด้วยความระมัดระวังตามควรแก่หน้าที่แล้วจะถือว่าจำเลยที่ 7 จ่ายเงินตามเช็คด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ได้
พนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ดฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาในข้อหาเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ซึ่งเป็นเงินตามเช็คพิพาทในคดีนี้ ขอให้ลงโทษและให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินที่ยักยอกไปยังไม่ได้คืน เป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1กับให้คืนหรือใช้เงินที่ยักยอกไปส่วนที่ยังไม่ได้คืน คำพิพากษาดังกล่าวผูกพันโจทก์-ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของเงินเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา เพราะถือว่าพนักงาน-อัยการจังหวัดร้อยเอ็ดฟ้องคดีแทนโจทก์ทั้งสาม จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งสามนำคดีมารื้อร้องฟ้องจำเลยที่ 1 อีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัย