คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3001/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลายมือชื่อของผู้ร้องอยู่เหนือลายมือชื่อของ ว. และไม่มีข้อความต่อท้ายว่า “ผู้พิมพ์” ส่วนลายมือชื่อของ ว.มีข้อความต่อท้ายว่า “ผู้พิมพ์” และ ว.เบิกความว่าตนเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรม ทั้งโดยปกติน่าจะพิมพ์คนเดียว กรณีจึงมีข้อสงสัยว่า ผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ร้องซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียหายในการนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 11 จึงจะฟังว่าผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมด้วยหาได้ไม่ กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ.มาตรา 1653 วรรคแรกอันจะทำให้พินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 เมื่อพินัยกรรมได้ทำผิดแบบพินัยกรรมเอกสารลับอันทำให้ตกเป็นโมฆะ แต่พินัยกรรมดังกล่าวก็ได้ทำขึ้นถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 1656ทุกประการ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเดิมทีผู้ทำพินัยกรรมรู้ว่าพินัยกรรมที่ตนทำนั้นไม่สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารลับ ก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา กรณีเข้าลักษณะตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 136เดิม พินัยกรรมจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาตาม ป.พ.พ.มาตรา 1656และตามพินัยกรรมดังกล่าวระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับพินัยกรรมผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม ทั้งได้ความว่าการจัดการมรดกของผู้ตายมีเหตุขัดข้องในการจัดการ ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ.มาตรา 1718 จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม

Share