คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1909/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปตามถนนพหลโยธินซึ่งแบ่งเส้นทางจราจรเป็น 2 ช่องเดินรถ โดยมีเกาะกลางถนนคั่นเมื่อถึงหน้ากรมการขนส่งทางบก จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทด้วยความเร็วสูง ไม่ระมัดระวังในการบังคับรถ เป็นเหตุให้รถแล่นขึ้นมาบนเกาะกลางถนนชนเสาไฟฟ้าหักและเป็นเหตุให้โคมไฟฟ้าสาธารณะของโจทก์ที่ติดอยู่บนเสาไฟฟ้าดังกล่าวแตกเสียหาย ซึ่งเป็นการบรรยายถึงลักษณะแห่งความประมาทของจำเลยที่ 1 แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ส่วนจำเลยที่ 1 จะขับรถมาจากทิศทางใด จะไปไหนและออกนอกเส้นทางอย่างไรไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
โจทก์เป็นนิติบุคคลมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์แต่ผู้เดียว การที่ผู้อำนวยการกองก่อสร้างและบูรณะซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจะถือว่าโจทก์รู้ด้วยไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ เมื่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ลงชื่อรับทราบและอนุมัติให้ฟ้องคดีในหนังสือแจ้งเหตุละเมิดและขออนุมัติฟ้องคดีในวันที่ 27มิถุนายน 2533 จึงถือว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2533 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2533 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 3 จะยกอายุความเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่ง-และพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก มาปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคแรก
จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างซึ่งกฎหมายกำหนดให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ลูกจ้าง ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 จึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดแก่โจทก์ โดยโจทก์ไม่จำต้องบอกกล่าวก่อน เพราะถือว่าจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดมาตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิดแล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิด จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด การที่โจทก์มีข้อตกลงให้การไฟฟ้านครหลวงเป็นผู้ซ่อมโคมไฟฟ้าสาธารณะเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น และโจทก์จะจ่ายเงินค่าซ่อมให้การไฟฟ้านครหลวง ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จำเลยที่ 3ได้รับเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2532 แต่ไม่ชำระภายในกำหนด จำเลยที่ 3จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2532

Share