แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ชื่อของโจทก์เป็นภาษาอังกฤษเขียนว่า ACME INDUSTRIESCO.,LTD. ส่วนชื่อของจำเลยเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า ACME INDUSTRY CO.,LTD. ชื่อโจทก์และจำเลยจึงคล้ายกันมาก เช่นนี้ ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปโดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่ติดต่อค้าขายกับโจทก์เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดว่าโจทก์คือจำเลย หรือจำเลยคือโจทก์ได้ โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใช้ชื่อภาษาไทยว่าบริษัทอุตสาหกรรมแอคมิ จำกัด ส่วนจำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใช้ชื่อภาษาไทยว่า บริษัทเอ็กมี่ อินดัสทรี จำกัด สาระสำคัญของชื่อโจทก์และจำเลยที่ใช้เรียกขานอยู่ที่คำว่าแอคมิหรือเอ็กมี่ ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกันคือ ACME แม้จะเขียนเป็นภาษาไทยแตกต่างกัน แต่ก็อ่านออกเสียงคล้ายกันมาก ส่วนคำว่า อุตสาหกรรมและอินดัสทรี ก็เป็นคำคำเดียวกัน เพียงแต่ของจำเลยเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษเท่านั้นชื่อของจำเลยจึงพ้องหรือคล้ายกับชื่อของโจทก์แล้ว การประกอบธุรกิจต่างกันหรือมีลูกค้าคนละกลุ่มกันไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาพิจารณาว่าชื่อโจทก์กับจำเลยพ้องหรือคล้ายกันหรือไม่ แม้ขณะที่จำเลยขอจดทะเบียนชื่อของจำเลย จำเลยอาจจะกระทำโดยสุจริตซึ่งอาจจะไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครมีหนังสือแจ้งให้จำเลยเปลี่ยนชื่อใหม่เพราะชื่อซ้ำกับชื่อของโจทก์ และทนายโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยเปลี่ยนชื่อจำเลยก็ได้มีหนังสือถึงทนายโจทก์แจ้งให้ทราบว่าจำเลยจะเปลี่ยนชื่อใหม่ แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้แล้วว่าชื่อจำเลยพ้องหรือคล้ายกับชื่อโจทก์ แต่จำเลยก็เพิกเฉย หาได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อไม่โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากวันที่จำเลยรับรองว่าจะเปลี่ยนชื่อเกือบ 6 เดือน เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าขณะที่โจทก์ฟ้องคดี จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยนำชื่อที่ซ้ำหรือคล้ายกับของโจทก์มาใช้โดยมิชอบแล้ว
จำเลยไม่ได้ให้การสู้คดีไว้ว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจึงต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจริง ดังนั้น แม้โจทก์จะนำสืบไม่ได้ชัดแจ้งว่าโจทก์ได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด แต่เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยดังกล่าวแล้วศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้