คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6018/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า อาคารต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 1 รับจ้างโจทก์ก่อสร้างและส่งมอบให้โจทก์เสร็จแล้วเกิดชำรุดบกพร่องเสียหายภายใน 12 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รับมอบงาน โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมแก้ไขแล้ว จำเลยที่ 1ไม่จัดการแก้ไขซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องให้เป็นที่เรียบร้อย โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในอาคารได้โดยสมบูรณ์ โจทก์จึงได้จ้าง ณ. ทำการซ่อมแซมจนเสร็จสมบูรณ์ ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างที่โจทก์ได้จ้าง ณ. ทำการซ่อมแซม ฟ้องของโจทก์มิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อความชำรุดบกพร่อง อันมีอายุความ 1 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 เพราะโจทก์ฟ้องบังคับตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ ซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันปฏิบัติตามสัญญาต่อกันอยู่อีก เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ่ายค่าจ้างที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ ณ.ไป จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาได้ การฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่)
หนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้ต่อโจทก์ ข้อ 2ระบุว่า จำเลยที่ 3 ยอมรับรู้และยินยอมด้วยในกรณีที่โจทก์ได้ยินยอมให้ผัดหรือผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบโดยไม่ชักช้า เป็นการที่จำเลยที่ 3 ยินยอมด้วยล่วงหน้าในกรณีที่จะมีการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 จึงถือว่าการที่โจทก์ผ่อนเวลาตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3ผู้ค้ำประกันแล้ว ส่วนข้อความตอนท้ายของสัญญาข้อ 2 ที่ระบุว่าโดยเพียงโจทก์ติดต่อแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบโดยไม่ชักช้านั้นมิใช่ข้อสาระสำคัญอันเป็นเงื่อนไขว่า /หากหากมิได้ปฏิบัติตามแล้วจะทำให้ข้อความตอนต้นไม่เป็นผล เพราะข้อความตอนต้นของสัญญาข้อ 2 เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 3 ที่มีผลเป็นการยินยอมด้วยในการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาแล้ว หากเป็นเพียงคำขอร้องหรือเสนอแนะเท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่หลุดพ้นความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา700 วรรคสอง ย่อมต้องร่วมรับผิดด้วยตามสัญญาค้ำประกัน

Share