คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 702/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับเงินตามสัญญาขายลดตั๋วแลกเงินไปแล้ว แต่ทางพิจารณากลับนำสืบว่าไม่มีการจ่ายเงินกัน แต่โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีแทน ดังนี้ การนำสืบของโจทก์เป็นการนำสืบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการรับเงินของจำเลย ไม่เป็นการนำสืบข้อเท็จจริงต่างฟ้อง ไม่ต้องห้ามการนำสืบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองมีว่า ผู้จำนองได้จำนองเป็นประกันหนี้ซึ่งผู้จำนองเป็นหนี้อยู่แล้วและในเวลานี้หรือในเวลาใดเวลาหนึ่งในภายหน้า ในเรื่องการกู้ยืมเงิน การเบิกเงินเกินบัญชีและหนี้ในลักษณะอื่น ๆ ทุกประเภทที่เป็นหนี้แก่ผู้รับจำนองทั้งหมด รวมทั้งการขอรับเงินสินเชื่อประเภทหมุนเวียนอันเป็นประเพณีการให้สินเชื่อของผู้รับจำนอง ซึ่งผู้รับจำนองทราบดีอยู่แล้วด้วย รวมวงเงิน10,000,000 บาท ดังนี้ การจำนองย่อมมีผลเป็นการประกันหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นและเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นแล้ว หรือหนี้ที่เกิดขึ้นในอนาคตในวงเงินไม่เกิน 10,000,000 บาท
สัญญาค้ำประกันมีข้อตกลงระบุถึงลักษณะของหนี้ที่ค้ำประกัน โดยไม่มีข้อตกลงว่าค้ำประกันการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินคราวใดคราวหนึ่งโดยเฉพาะ เมื่อฟังว่าหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วแลกเงินที่จำเลยค้ำประกันยังไม่ได้มีการชำระ จำเลยไม่หลุดพ้นจากความรับผิด แม้จำเลยได้มีหนังสือบอกเลิกการค้ำประกันการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน และโจทกได้รับหนังสือบอกเลิกแล้วแต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยบอกเลิก จำเลยจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อวันที่๘ ตุลาคม ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๑ นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขายลดกับโจทก์สาขาถนนมิตรภาพ และได้รับเงินไปแล้วจำนวน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ ๑จำเลยที่ ๑ สัญญาว่า จะใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ภายในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๘ ในการนี้จำเลยที่ ๑ สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๘ จำนวนเงิน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ไว้เพื่อเป็นการประกันหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ ๑ นำที่ดินโฉนดที่ ๑๐๗๒ และโฉนดที่ ๑๖๘๑๕ มาจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ เมื่อครบกำหนดโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยทั้งหกจึงต้องรับผิดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งหกเพิกเฉย จำเลยทั้งหกมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน ๔,๕๒๗,๓๙๗.๒๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระ ขอบังคับจำนองโดยยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งหกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งหกให้การว่า เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๕ จำเลยที่ ๑ ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์จำนวน ๘ ฉบับ เป็นเงินจำนวน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวถึงกำหนดไม่ได้มีการชำระเงิน จำเลยที่ ๑ ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตลอดมาและมีการทำตั๋วสัญญาใช้เงินขึ้นใหม่ทุกเดือน เดือนละ ๘ ฉบับ เป็นเงินจำนวน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาทต่อมามีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ ๑ โจทก์ก็ยังเรียกให้บุคคลทั้งสองที่ลงชื่อเอกสารท้ายฟ้องไปลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ใหม่ จนถึงตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้อง จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด การจำนองที่ดินตามฟ้องไม่ผูกพันการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้อง เพราะหนี้จำนองจำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๕ จึงไม่มีผลผูกพันหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น การขายลดตั๋วเงินตามฟ้องทำขึ้นเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๘ โดยมิได้มีการจดทะเบียนจำนองเพื่อให้รับผิดหนี้รายนี้ด้วย โจทก์ไม่อาจขอให้บังคับจำนองเพื่อชำระหนี้ตามฟ้องได้ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ โดยมีเจตนาให้ผูกพันสำหรับหนี้การขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๕ และหนี้ดังกล่าวระงับไปแล้ว จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖หาต้องรับผิดหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องไม่ ในระหว่างปี ๒๕๒๖ ถึง ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖มีหนังสือแจ้งแก่โจทก์ ขอยกเลิกการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ และโจทก์ได้รับหนังสือแล้วการขอยกเลิกกระทำก่อนวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๘ ซึ่งมีการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน เพราะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากการขอยกเลิกการค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน ๔,๕๒๗,๓๙๗.๒๕ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ถ้าจำเลยทั้งหกไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยทั้งหกที่ว่า โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงต่างกับฟ้องโดยกล่าวในคำฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้รับเงินตามสัญญาขายลดตั๋วแลกเงินไปแล้ว แต่ทางพิจารณากลับนำสืบว่าไม่มีการจ่ายเงินกันแต่โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีแทน ศาลฎีกาเห็นว่า การนำสืบของโจทก์เป็นการนำสืบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการรับเงินของจำเลยที่ ๑ แต่ก็ฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้รับเงินตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินไปแล้ว ทางพิจารณาที่โจทก์นำสืบมาจึงไม่แตกต่างกับคำฟ้องและไม่ต้องห้ามการนำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ ตามที่จำเลยทั้งหกฎีกาแต่อย่างใด
จำเลยทั้งหกฎีกาต่อไปว่า สัญญาจำนองและค้ำประกันไม่ครอบคลุมถึงการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเอกสารหมาย จ.๒๒ ถึง จ.๒๙ เพราะเป็นการจำนองประกันหนี้และค้ำประกันหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วแลกเงินเมื่อคราววันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๕ เท่านั้น เห็นว่าตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.๓๓ ข้อ ๑ มีข้อตกลงว่า ผู้จำนองได้จำนองเป็นประกันหนี้ซึ่งผู้จำนองเป็นหนี้อยู่แล้ว และในเวลานี้หรือในเวลาใดเวลาหนึ่งในภายหน้าในเรื่องการกู้ยืมเงินการเบิกเงินเกินบัญชีและหนี้ในลักษณะอื่น ๆ ทุกประเภทที่เป็นหนี้แก่ผู้รับจำนองทั้งหมด รวมทั้งการขอรับสินเชื่อประเภทหมุนเวียนอันเป็นประเพณีการให้สินเชื่อของผู้รับจำนอง ซึ่งผู้รับจำนองทราบดีอยู่แล้วด้วย รวมวงเงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดังนั้นตามข้อตกลงดังกล่าว การจำนองย่อมมีผลเป็นการประกันหนี้ที่จำเลยที่ ๑ ก่อขึ้น และเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๕ หรือหนี้ที่เกิดขึ้นในอนาคตในวงเงินไม่เกิน๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท การจำนองจึงครอบคลุมถึงหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อวันที่ ๘ตุลาคม ๒๕๒๘ ตามเอกสารหมาย จ.๓๐ และตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.๒๒ ถึง จ.๒๙ส่วนสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ ตามเอกสารหมายจ.๑๗ ถึง จ.๒๑ นั้น จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ได้ทำข้อตกลงกับโจทก์อย่างเดียวกันในสัญญาค้ำประกันข้อ ๑ ว่า โดยการที่ธนาคารโจทก์ ก. ออกหนังสือสินเชื่อทางการค้า ข.รับซื้อลดตั๋วเงินค.ยอมให้ออกทรัสต์รีซีท ง.ออกชิปปิ้งการันตี จ.ให้กู้โดยวิธีเบิกเงินเกินบัญชี ฉ.ให้เบิกเงินล่วงหน้าตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่ลูกหนี้ (จำเลยที่ ๑) นั้น หากปรากฏว่าลูกหนี้ปฏิบัติผิดสัญญาหรือเงื่อนไขของการอำนวยสินเชื่อดังกล่าวและไม่ชำระหนี้อันเกิดจากสินเชื่อดังกล่าวหรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารไม่ว่าจะเป็นในรายการหนึ่งรายการใดข้างต้นหรือทุกรายการ ผู้ค้ำประกันตกลงยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้และจะชำระหนี้เงินต้นเป็นจำนวนเงิน๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนและค่าภาระติดพันอื่น หนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินจึงอยู่ในหนี้ที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ตามข้อตกลงข้อ ๑ ข. คงมีปัญหาว่าสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นการค้ำประกันการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเฉพาะคราวที่มีการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๔ หรือไม่ เห็นว่าตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๑๗ ถึง จ.๒๑ คงมีข้อตกลงในข้อ ๑ ที่ระบุถึงลักษณะของหนี้ที่ค้ำประกันไว้เท่านั้น ตามข้อ ๑ ดังกล่าวไม่มีข้อตกลงว่าค้ำประกันการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินคราวใดคราวหนึ่งโดยเฉพาะทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขายลดให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ ๑๙สิงหาคม ๒๕๒๕ แล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์เลย จึงมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินมาขายลดให้แก่โจทก์เดือนละ ๒ ครั้ง เพื่อเป็นการตัดทอนบัญชีและคิดดอกเบี้ยกัน ตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.๒๒ ถึง จ.๒๙ และสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.๓๐ก็มีที่มาจากการปฏิบัติดังกล่าว จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ซึ่งเบิกความเป็นพยานของจำเลยทั้งหกก็ยอมรับว่ายังไม่มีการชำระหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑๙สิงหาคม ๒๕๒๕ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า สัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.๓๐ และตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.๑๗ ถึง จ.๒๑ จำเลยที่ ๑ ได้ทำขึ้นเพื่อแทนตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ ๑ ได้นำมาขายลดให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๕ โดยจำเลยที่ ๑ ได้สั่งจ่ายเช็คตามเอกสารหมาย จ.๓๑ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค หนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วแลกเงินเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๕ ที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ค้ำประกันนั้นจึงยังไม่ได้มีการชำระ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด แม้จำเลยที่ ๕ ได้มีหนังสือบอกเลิกการค้ำประกันการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๘ และโจทก์ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๒๘ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ ๕ บอกเลิก แม้โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ ๑ ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินอีกเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๘ สัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวก็ได้ทำขึ้นเพื่อแทนสัญญาขายลดตั๋วเงินที่ทำขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๕ หาใช่เป็นหนี้ที่กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวของจำเลยที่ ๕ ไม่ จำเลยที่ ๕ จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด
พิพากษายืน.

Share