แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วได้ให้เพิ่มเติมมาตรา 7 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 และให้มาตรา 7 ทวิ ที่เพิ่มเติมนี้ใช้บังคับด้วยดังนั้น โจทก์ที่ 1 ซึ่งในขณะเกิดบิดาตามความเป็นจริงและมารดาเป็นคนต่างด้าวผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ย่อมไม่ได้สัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคแรก และถูกถือว่าเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม
ในขณะที่โจทก์ที่ 2 ถึงทึ่ 5 เกิด บิดาตามความเป็นจริงเป็นคนต่างด้าวผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและมารดาคือโจทก์ที่ 1เป็นคนต่างด้าวผู้ถือว่าเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เกิดในราชอาณาจักรไทยก็ไม่ได้รับสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบวรรคสามซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ(ฉบับที่ 2) มาตรา 5 ประกอบมาตรา 11
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นคนสัญชาติไทย ให้จำเลยทั้งสามถอนชื่อโจทก์ทั้งห้าออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพ
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ทั้งห้ามิใช่ผู้มีสัญชาติไทย จำเลยทั้งสามมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้มีสัญชาติไทย ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันถอนชื่อโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑ ที่ ๔ และที่ ๕
โจทก์ที่ ๑ ที่ ๔ ที่ ๕ และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นผู้มีสัญชาติไทยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันถอนชื่อโจทก์ที่ ๔ และที่ ๕ ออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์ที่ ๑๒ เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยในขณะที่เกิดบิดาและมารดาของโจทก์ที่ ๑ เป็นคนต่างด้าวผู้ที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โจทก์ที่ ๑ อยู่กินกับนายฮึง เหงียน คนสัญชาติญวน ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง มีบุตรด้วยกันคือโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่าโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่าในขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ใช้บังคตับ ตามพระราชบัญญัตินี้มาตรา ๕ให้เพิ่มมาตรา ๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่งบัญญีติว่า”ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น (๑)…(๓)ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง” และมาตรา๗ ทวิ วรรคสามบัญญัติว่า “ให้ถือว่าผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น” และพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๑๑ บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา ๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับแก่ผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย…”ดังนั้น โจทก์ที่ ๑ ซึ่งในขณะเกิดบิดาตามความเป็นจริงและมารดาเป็นคนต่างด้าวผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นในขณะที่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ เกิด บิดาตามความเป็นจริงเป็นคนต่างด้าวผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและมารดาคือโจทก์ที่ ๑เป็นคนต่างด้าวผู้ถูกถือว่าเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แม้โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ เกิดในราชอาณาจักรไทยก็ไม่ได้รับสัญชาติไทยตามบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑.