แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยว่าผิดสัญญาเช่าโดยไม่ชำระค่าเช่า จึงขอให้ขับไล่จำเลยให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหาย คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเกี่ยวกับการเช่าดังกล่าว โจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาว่าโจทก์ยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้า แต่จำเลยต้องเป็นผู้ชำระเงินค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า จึงขอให้บังคับจำเลยชำระค่าน้ำประปาและไฟฟ้าที่โจทก์ได้ชำระแทนไป ข้อตกลงเรื่องโจทก์ยินยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้าโดยจำเลยเป็นผู้ชำระเงิน เป็นข้อตกลงต่างหากจากสัญญาเช่า มิใช่เรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีแรกไม่เป็นฟ้องซ้อน
หุ้นส่วนที่จะฟ้องบังคับบุคคลภายนอกในกิจการค้าของห้างหุ้นส่วนสามัญได้จะต้องเป็นผู้มีชื่อในกิจการค้านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1049 การฟ้องคดีจึงไม่จำเป็นต้องลงชื่อบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคนตามสัญญาเช่ามีแต่ชื่อโจทก์ที่ 1 ไม่ปรากฏชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่อาจถือสิทธิใด ๆ แก่จำเลยในการเช่านี้ และไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญลาดกระบังเธียเตอร์จำเลยทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ลาดกระบังเธียเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่แล้วจำเลยผิดสัญญาา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและนำคดีไปฟ้องที่ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษาขับไล่จำเลย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่งการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยยังมิได้ชำระค่าน้ำประปาประจำเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ๒๕๒๗ เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๔,๕๑๑ บาท ไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้าในเดือนธันวาคม ๒๕๒๖ มกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ๒๕๒๗ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในการผิดนัดเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๗๔,๑๘๘.๔๔ บาท และค้างภาษีโรงเรือนในปี ๒๕๒๕ เป็นเงินจำนวน ๑๖,๙๙๒ บาท เบี้ยปรับจำนวน ๑,๖๙๙.๒๐ บาทรวมเป็นเงินจำนวน ๑๘,๖๙๑.๒๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๙๗,๓๙๐.๔๘ บาท โจทก์ทวงถามเงินดังกล่าวที่ชำระแทนคืนแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๙๗,๓๙๐.๔๔ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญาหุ้นส่วนเอกสารท้ายคำฟ้องมีบุคคลที่เป็นหุ้นส่วนรวม ๕ คนแต่ตามหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องมีบุคคลที่ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจเพียง ๓ คน คือ โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ หนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ จำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามสัญญาที่จะต้องเสียภาษีโรงเรือนของปี ๒๕๒๕ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า จำเลยไม่เคยค้างชำระ ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปา เอกสารท้ายฟ้องมิใช่ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาที่ออกให้ห้างหุ้นส่วนลาดกระบังเธียเตอร์หรือโจทก์ หากแต่เป็นใบเสร็จรับเงินออกให้แก่โจทก์ที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำประปาในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้น้ำประปาดังกล่าวจากจำเลย ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินค่าน้ำประปาจำนวน ๔,๕๑๑ บาทค่ากระแสไฟฟ้าจำนวน ๗๔,๑๘๘.๔๔ บาท รวมเป็นเงินจำนวน ๗๘,๖๙๙.๔๔ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ยกคำขอของโจทก์ในส่วนค่าภาษีโรงเรือนและเบี้ยปรับ โจทก์ไม่ฎีกา คดีเกี่ยวกับค่าภาษีโรงเรือนและเบี้ยปรับจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๓๖๘/๒๕๒๘ ของศาลจังหวัดมีนบุรีหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องของโจทก์และฎีกาของจำเลยว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๓๖๘/๒๕๒๘ ของศาลจังหวัดมีนบุรีโจทก์ฟ้องจำเลยว่าผิดสัญญาเช่าโดยไม่ชำระค่าเช่า จึงขอให้ขับไล่จำเลย ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหาย ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เกี่ยวกับการเช่าดังกล่าว โจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาว่า โจทก์ยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้า แต่จำเลยต้องเป็นผู้ชำระเงินค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าจำเลยไม่ชำระค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าบางเดือน โจทก์ได้ชำระแทนไปแล้ว จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าที่โจทก์ได้ชำระแทนไป เห็นว่า ข้อตกลงเรื่องโจทก์ยินยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้าโดยจำเลยเป็นผู้ชำระเงิน เป็นข้อตกลงต่างหากจากสัญญาเช่า จึงมิใช่เรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีแรก ฟ้องโจทก์คดีนี้เกี่ยวกับค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าจึงไม่เป็นฟ้องซ้อน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ตามสัญญาหุ้นส่วนท้ายฟ้อง มีผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน ๕ คน คือ โจทก์ที่ ๑ถึงที่ ๓ นางสุชาดา กิติมหาคุณ และนางดารณี อุดมลาภประสิทธิ ในการฟ้องคดีจะต้องให้บุคคลทั้งห้าลงลายมือชื่อร่วมกัน แต่หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องคงมีแต่ลายมือชื่อโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ จึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอมนั้น เห็นว่า แม้ห้างหุ้นส่วนสามัญลาดกระบังเธียเตอร์จะมีหุ้นส่วนหลายคน แต่ในเรื่องความเกี่ยวพันกับบุคคลภายนอกนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๐๔๙ บัญญัติว่า “ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่” แสดงว่าหุ้นส่วนที่จะฟ้องขอบังคับบุคคลภายนอกในกิจการค้าของห้างหุ้นส่วนจะต้องเป็นผู้มีชื่อในกิจการค้านั้น การที่หุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญฟ้องคดีจึงไม่จำเป็นต้องลงชื่อบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคนดังที่จำเลยฎีกา แต่อย่างไรก็ตามปรากฏตามสัญญาเช่าว่า มีแต่ชื่อโจทก์ที่ ๑ ในสัญญา ไม่ปรากฏชื่อโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ ในสัญญาเช่าด้วย โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงไม่อาจถือสิทธิใด ๆ แก่จำเลยในการเช่านี้ และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ส่วนโจทก์ที่ ๑ มีชื่อเป็นคู่สัญญากับจำเลย และประกอบกับโจทก์ที่ ๑ ที่ ๔ เบิกความรับรองหนังสือมอบอำนาจว่า โจทก์ที่ ๑ มอบอำนาจให้โจทก์ที่ ๔ ฟ้องคดีแทน โดยจำเลยไม่มีพยานนำสืบหักล้างข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า มีการมอบอำนาจถูกต้อง โจทก์ที่ ๑ มีอำนาจฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องคดีสำหรับโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.