คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 804/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำร้องของโจทก์อ้างว่าจากการตรวจสอบหลักฐานบัญชีงบดุลของจำเลย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2534 ระบุว่าจำเลยมีทรัพย์สินมากกว่าที่จำเลยเป็นหนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าว 111 ตามที่ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้ และมากกว่าเงินฝากในบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยเปิดไว้ต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาคลองจั่น อีกบัญชีหนึ่งทั้งทราบจากเจ้าหน้าที่ธนาคารว่ามีทรัพย์สินวางเป็นประกันไว้ต่อธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าว 111 แต่จำเลยได้ย้ายสำนักงานโดยไม่ทราบว่าย้ายไปอยู่ที่ใด และ ส.ผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขา-ลาดพร้าว 111 ไม่ยินยอมให้ตรวจทรัพย์สินที่จำเลยวางประกัน ดังนี้ ตามสำเนางบดุลของจำเลยที่โจทก์แนบมาท้ายคำร้อง เป็นการระบุสินทรัพย์อย่างกว้าง ๆไม่มีรายละเอียดและเป็นงบดุลที่แสดงสินทรัพย์เพียงวันที่ 31 ธันวาคม 2534ก่อนโจทก์ยื่นคำร้องเป็นเวลาเกือบ 2 ปี 6 เดือน ระยะเวลาดังกล่าวอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นไม่มีทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ก็ได้เนื่องจากการประกอบการงานของจำเลย ส่วนหลักประกันที่วางไว้ต่อธนาคารนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นหลักประกันด้วยทรัพย์สินอะไรแน่ชัด ดังนี้ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทราบโดยแน่ชัดว่าจำเลยมีทรัพย์ที่สามารถระบุจำนวน ชนิด และประเภทได้มากกว่าที่ปรากฏในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันในธนาคารทั้งสองแห่งที่โจทก์ทราบ ทั้งเงินของจำเลยที่ปรากฏทางบัญชีก็ไม่พอชำระหนี้โจทก์ เหตุผลตามคำร้องทำให้โจทก์เชื่อว่าจำเลยมีทรัพย์สินที่จะถูกบังคับมากกว่าที่โจทก์ทราบ โดยมี ว.กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยและ ส.ผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ที่อาจจะทราบถึงความมีอยู่ที่แท้จริงแห่งทรัพย์สินของจำเลย คำร้องของโจทก์จึงมีเหตุสมควรที่จะหมายเรียกบุคคลทั้งสองมาทำการไต่สวนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ.มาตรา 277

Share