แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 17 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ.2427 บัญญัติว่า “คณะกรรมการมีหน้าที่ดังต่อไปนี้…
(25) กำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับและเงินรางวัลสำหรับการนำจับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนด…”และวรรคสองบัญญัติว่า “การกำหนดตาม…(25)… ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี” เมื่อปรากฏตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วย เบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศระเบียบหรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ.2528 ว่าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ออกระเบียบนั้นโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว ระเบียบนี้จึงเป็นระเบียบที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายและได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ ทั้งไม่เป็นการออกระเบียบที่ซ้ำซ้อนหรือมีบทลงโทษที่หนักกว่าโทษสำหรับความผิดฐานขนย้ายน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ออกนอกบริเวณโรงงานตามบทบัญญัติมาตรา 44 (7)และ 71 แห่ง พ.ร.บ. และน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 เพราะเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ตามระเบียบดังกล่าวสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนมิใช่โทษอาญาดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 44 (7)และ 71 ดังกล่าว หากแต่เป็นการกำหนดความรับผิดในทางแพ่งสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนระเบียบนั้น ระเบียบดังกล่าวจึงเป็นระเบียบที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย
ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527คำว่า “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มาตรา20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า”คณะกรรมการบริหาร”…” ได้ และตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการน้ำตาลทราย”…”ดังนี้ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงมีอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวในการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการน้ำตาลทราย หาใช่อำนาจของรัฐมนตรีไม่
คณะที่ปรึกษากฎหมายไม่ใช่คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่คณะกรรมการน้ำตาลทรายแต่งตั้งขึ้นเพื่อมอบหมายให้ปฏิบัติการแทนคณะกรรมการน้ำตาลทรายดังที่บัญญัติไว้ มาตรา 42 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ.2527 คณะที่ปรึกษากฎหมายจึงไม่จำต้องมีคุณสมบัติ จำนวน และสัดส่วนตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว แต่การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายก็เพื่อนำความเห็นทางกฎหมายของคณะที่ปรึกษามาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการน้ำตาลทรายเท่านั้น คณะกรรมการน้ำตาลทรายมีอำนาจอิสระที่จะรับฟังหรือไม่รับฟังความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายก็ได้ ทั้งการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายก็ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ การแต่งตั้งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายประกอบด้วยกรรมการทั้งหมด 21 คน ปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ครั้งที่ 1/2532 ที่คณะกรรมการให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีกรรมการเข้าประชุม 13 คน ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด การประชุมดังกล่าวจึงมีกรรมการมาประชุมครบองค์ประชุมชอบด้วยมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นข้าราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้แต่งตั้งให้เป็นกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายตามบทบัญญัติมาตรา 9 ดังกล่าว ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการซึ่งเป็นข้าราชการดังกล่าวไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องเข้าประชุมด้วยตนเอง และไม่มีกฎหมายห้ามมิให้มอบหมายให้ข้าราชการในสังกัดปฏิบัติหน้าที่แทน เมื่อกรรมการนั้นไม่อาจมาปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ย่อมจะมอบหมายให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงหรือกรมที่ตนดำรงตำแหน่งอยู่ไปปฏิบัติราชการแทนในฐานะผู้แทนได้ การประชุมคณะกรรมการดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ที่โจทก์อ้างว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยที่ 4 กรรมการดำรงตำแหน่งเป็นวุฒิสมาชิกซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมือง มีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นกรรมการ และนายสุทธิพรเกริกกฤตยา มิใช่ชาวไร่อ้อย ไม่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการนั้น ปรากฏว่าข้อฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้บรรยายมาในคำฟ้อง แม้โจทก์จะนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ ก็ถือมิได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้