คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 456/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 บัญญัติไว้ว่า “ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง” โจทก์พบเสื้อเกียร์แตกครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2532และจำเลยที่ 1 ได้รับไปซ่อมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2532 แล้วนำมาส่งคืนเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2532 เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์แล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2532 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 172 (เดิม) ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม 2532 โจทก์ติดตั้งเกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 ใช้งานจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2532 ปรากฏว่าเสื้อเกียร์ได้แตกเหมือนเดิม จำเลยที่ 1 ได้รับคืนไปซ่อมอีกแล้วส่งคืนโจทก์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2533 และมีการติดตั้งเกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นครั้งที่ 3 จากนั้นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2533 โจทก์ได้ใช้เกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าว ใช้ได้ประมาณ 2 ถึง 3 วัน เสื้อเกียร์ก็แตกอีก ดังนี้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถแก้ไขความชำรุดบกพร่องในจุดเดิม คือที่เสื้อเกียร์ของเกียร์ทดและอุปกรณ์นั้นให้โจทก์สามารถใช้งานได้ตามปกติ อันเป็นประโยชน์ที่มุ่งหมายในสัญญา อายุความจึงยังคงสะดุดหยุดลงอยู่ ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1ส่งช่างไปแก้ไข แต่จำเลยที่ 1 กลับปฏิเสธความรับผิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน2533 จึงเป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นได้สิ้นสุดลง ต้องเริ่มนับอายุความเดิม 1 ปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2533

Share