คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4265/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์แต่ผิดสัญญา โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายไปตามใบเสร็จรับเงินซึ่งระบุว่า ค่าประมูลรถยนต์ 365,000 บาทภาษีมูลค่าเพิ่ม 25,550 บาท ยอดรวม 390,550 บาท เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องกันเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2533 ก่อนที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 ซึ่งเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจะใช้บังคับ การที่โจทก์ได้รับเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 25,550 บาท จากผู้ซื้อนำไปจ่ายให้แก่รัฐ เป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเท่านั้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม 25,550 บาท จึงถือไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่ประมูลขายได้
ข้อสัญญาที่ว่า ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่จ่ายเป็นค่าเช่าซื้อแล้วจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินทั้งหมดที่จะต้องจ่ายถ้าหากว่าการเช่าซื้อดำเนินต่อไปตลอดระยะเวลาแห่งสัญญานั้น ข้อตกลงเช่นนี้เป็นข้อกำหนดค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์ไว้ล่วงหน้ากรณีเลิกสัญญา เป็นการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ และในกรณีฟ้องเรียกราคารถยนต์เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปีตาม ป.พ.พ.มาตรา 190/30 มิใช่อายุความหกเดือนตามมาตรา 563
ราคารถยนต์เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ ค่าติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์ มิใช่เงินอื่นใดที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 เท่านั้น

Share