แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่ออ่านเอกสารท้ายฟ้องทั้งหมดประกอบคำฟ้องแล้วพอเข้าใจได้ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธินำรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10 – 0769 กาญจนบุรีเข้าวิ่งในคิวที่ 41 ของจำเลยที่ 1 แทนรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10 – 0485กาญจนบุรี แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมให้เข้าวิ่ง สำหรับเรื่องการซื้อขายและเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าว เช่น ทำสัญญากันเมื่อใด ราคาเท่าใด มีเงื่อนไขในการชำระค่าเช่าซื้ออย่างไร มีสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ล้วนเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในภายหลัง ส่วนคำว่าคิวนั้น เมื่ออ่านฟ้องแล้วก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นลำดับของรถยนต์โดยสารที่โจทก์จะนำเข้าวิ่งในเส้นทางของจำเลยที่ 1 คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ส.ให้โจทก์ทำสัญญาซื้อขายคิวรถที่ 41 เพื่อเป็นประกันการเช่าซื้อรถยนต์โดยมิได้ประสงค์ให้ผูกพันเป็นการซื้อขายกันจริง ๆ สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นการทำขึ้นโดยเจตนาลวงใช้ บังคับระหว่างกันไม่ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 118 เดิม
โจทก์มิได้ฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขาย ดังนั้น การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลประกอบสัญญาเช่าซื้อว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์โดยสารจาก ส. ราคา 352,000 บาท ส่วนสัญญาซื้อขายที่ระบุว่าเป็นสัญญาซื้อขายคิวรถที่ 41 ให้แก่ ส.ราคา 352,000 บาท นั้น ความจริงเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อที่โจทก์ทำไว้แก่ ส.เนื่องจากโจทก์ไม่มีหลักประกันการเช่าซื้อ โจทก์จึงได้ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อไว้ในรูปของสัญญาซื้อขายคิวรถที่ 41 โดยมีเงื่อนไขว่า หากโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อก็ให้ ส.ยึดคิวรถที่ 41ได้ และหากโจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน ส.ก็จะคืนคิวรถที่ 41 ให้โจทก์ไม่มีการจ่ายเงินตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวแต่อย่างใด การนำสืบเช่นนี้จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
แม้โจทก์จะตั้งข้อหาในคำฟ้องว่าละเมิด แต่คำฟ้องของโจทก์ที่แท้จริงอยู่ที่คำบรรยายฟ้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องมาว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เดินรถโดยสารสาธารณะประจำทางในเส้นทางสาย 8203 และโจทก์เป็นผู้ประกอบการเดินรถผู้หนึ่งที่นำรถยนต์เข้าร่วมกับจำเลยที่ 1 รับส่งคนโดยสารในเส้นทางดังกล่าวในคิวที่ 41 ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าการที่โจทก์มีสิทธินำรถยนต์เข้าร่วมรับส่งคนโดยสารในเส้นทางที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตได้นั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 จะต้องมีสัญญาต่อกัน กล่าวคือ จำเลยที่ 1 จะต้องทำสัญญาให้โจทก์เข้าเดินรถร่วมกับจำเลยที่ 1 และการที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า ต่อมาจำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมให้โจทก์นำรถยนต์เข้าวิ่งในคิวที่ 41 แต่กลับให้จำเลยที่ 2นำรถยนต์เข้าวิ่งแทนโจทก์ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1ทำผิดสัญญาดังกล่าว มิใช่ฟ้องเรื่องละเมิด แม้โจทก์จะตั้งข้อหาคลาดเคลื่อนไปว่าเป็นละเมิดก็ไม่ทำให้สารัตถะในคำฟ้องเป็นเรื่องละเมิดไปได้ และเป็นหน้าที่ของศาลที่จะปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ฉะนั้นจะนำอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 มาปรับแก่คดีหาไม่ได้ และกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ยอมให้โจทก์นำรถยนต์เข้าร่วมรับส่งคนโดยสารนี้ กฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 (เดิม)
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ทำสัญญาค้ำประกัน โจทก์ไม่ได้ทำสัญญาขายคิวรถที่ 41 ให้แก่ ส. คิวรถที่ 41 จึงยังเป็นของโจทก์อยู่ แต่เมื่อโจทก์จะขอนำรถยนต์โดยสารเข้าร่วมวิ่งกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญา จำเลยที่ 1กลับปฏิเสธสิทธิของโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์โดยสารเข้าวิ่งในคิวของโจทก์แทน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการผิดสัญญา โจทก์ชอบที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้