แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เนื้อที่ 32 ไร่ 3 งาน 58 ตารางวา เป็นทรัพย์มรดกของนาย ค. และนาง ล.ผู้ตาย โจทก์ทั้งสามและจำเลยต่างเป็นบุตรของผู้ตาย ขอให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสามคนละ 5 ไร่ คิดเป็นที่ดินรวมกัน 15 ไร่ ซึ่งโจทก์ทั้งสามตีราคามาในคำฟ้องเป็นเงิน 100,000 บาท จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่เป็นทรัพย์ของจำเลย แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องและตีราคาทรัพย์สินที่พิพาทรวมกันมา แต่กรรมสิทธิ์ที่โจทก์ขอแบ่งซึ่งแต่ละคนกล่าวอ้างสามารถแยกต่างหากจากกันได้ ราคาทรัพย์สินที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงต้องถือตามราคาที่ดินที่โจทก์แต่ละคนอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ เมื่อที่ดินพิพาทจำนวน 15 ไร่ มีราคา 100,000 บาท ดังนั้นราคาที่ดินพิพาทเนื้อที่ 5 ไร่ ที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งเมื่อคำนวณแล้วมีราคาไม่เกิน50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 224วรรคหนึ่ง
การรับรองอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ว่ามีเหตุอันสมควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้นั้น ต้องเป็นการรับรองโดยชัดแจ้ง คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ผู้อุทธรณ์ มีข้อความว่า “รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ สำนาให้จำเลยแก้ ให้โจทก์นำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ หากไม่ปรากฏว่าจำเลยมีภูมิลำเนาแห่งอื่นแล้วให้ปิดหมายได้” คำสั่งดังกล่าวไม่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าเป็นการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นดังบัญญัติไว้ในป.วิ.พ.มาตรา 224 อันจะทำให้ปัญหาข้อเท็จจริงในคดีนี้มาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้