คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7602/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จะกำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้เพียง 5 ประการ แต่ก็มิได้หมายความว่า เมื่อมีเหตุผลจำเป็นนอกเหนือไปจาก 5 ประการ ดังกล่าวแล้วจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและอยู่ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับไม่ได้ โดยไม่คำนึงถึงฐานะและสภาพทางเศรษฐกิจตลอดจนความจำเป็นของนายจ้างประการอื่นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้เสียเลย ดังนี้ ในกรณีที่นายจ้างต้องประสบกับการขาดทุนมีหนี้สินมากมายจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างปกติ กิจการหยุดชะงักงันโดยสิ้นเชิงจนต้องยุบหน่วยงานหรือเลิกกิจการแล้วจะให้นายจ้างจ้างลูกจ้างอยู่ตลอดไปจนนายจ้างประสบความหายนะหรือล้มละลายย่อมเป็นไปไม่ได้ หากเป็นกรณีที่มีเหตุเพียงพอและเป็นการสมควรและมิใช่เป็นการกลั่นแกล้งอันถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมต่อบุคคลดังกล่าวแล้วนายจ้างย่อมกระทำได้
คดีนี้ถึงหากโจทก์ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจถดถอยทำให้โจทก์มีผลกำไรจากการประกอบการลดลงและมีกำลังคนล้นงาน โจทก์จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายป้องกันมิให้นายจ้างต้องขาดทุนในภายหน้าก็ตาม แต่การดำเนินการของโจทก์ยังมีกำไรอยู่ หาได้ประสบภาวะขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการอันใดต่อไปได้ถึงกับต้องยุบหน่วยงานเสียทั้งหน่วยหรือเลิกกิจการไปไม่ เมื่อเป็นเพียงการคาดหมายของโจทก์เพื่อป้องกันการขาดทุนในภายหน้าเท่านั้น การดำเนินกิจการของโจทก์ต่อไปอาจไม่ประสบภาวะการขาดทุนก็เป็นได้ การที่โจทก์แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการเลิกจ้างลูกจ้างบางคนในหน่วยงานหรือยุบหน่วยงานบางหน่วยบ้างที่ไม่จำเป็นเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยถือหลักเกณฑ์การคัดเลือกในการเลิกจ้างนำมาใช้กับ ส.ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานของโจทก์และอยู่ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ โดยไม่เลือกใช้วิธีการอย่างอื่นนั้น ยังไม่เป็นเหตุผลอันเพียงพอและสมควรจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

Share