คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2572/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างและเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและ ป.พ.พ. จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างแต่เป็นหุ้นส่วนทำกิจการร่วมกัน และโจทก์มีพฤติการณ์เสียหายด้านการเงินไม่นำเงินที่เรียกเก็บจากลูกค้าไปชำระค่าบริการต่าง ๆ ให้สถานบริการเหล่านั้น จำเลยต้องรับภาระชำระหนี้สินที่โจทก์ก่อขึ้นดังกล่าว จำเลยให้โอกาสโจทก์ปรับปรุงตัวใหม่ แต่โจทก์ก็ไม่ได้ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น ยังคงหลอกลวงลูกค้าที่มาใช้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวนำเงินที่รับจากลูกค้าไปเป็นประโยชน์ส่วนตนเป็นเหตุให้ลูกค้าได้รับความเสียหายอยู่อีก เมื่อศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ดังนี้ ข้อต่อสู้ของจำเลยในส่วนที่ว่าโจทก์มีพฤติการณ์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่จึงยังคงมีอยู่ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าจ้างค้างค่าครองชีพ เงินส่วนแบ่ง เงินค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายต่าง ๆ ตามฟ้องหรือไม่
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง หาได้มีบทกฎหมายใดกำหนดหรือบังคับให้ต้องมีการบอกเลิกจ้างกันอย่างชัดแจ้งทุกกรณีเสมอไปไม่ การเลิกจ้างอาจเกิดขึ้นได้โดยพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่พอแสดงได้ว่าเป็นการเลิกจ้างก็ได้ ดังที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคสอง ได้บัญญัติถึงวิธีการซักถามพยานไว้โดยเฉพาะแล้วว่าในการสืบพยาน คู่ความจะซักถามพยานได้ก็เฉพาะเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานแล้วเท่านั้น กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการสืบพยานตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา 89, 116 (2) และมาตรา 117 มาใช้บังคับแก่การสืบพยานในคดีแรงงานในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้
โจทก์ยกเอาพยานเอกสารที่จำเลยนำสืบมาอุทธรณ์โต้แย้งเพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงไปอีกทางหนึ่งอันจะเป็นประโยชน์แก่โจทก์ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง

Share