คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1828/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาจำนองได้ระบุดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรือดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่โจทก์กำหนด และระบุด้วยว่าจำเลยผู้กู้และผู้จำนองตกลงให้โจทก์ขึ้นหรือปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยตามความเหมาะสมโดยไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบ และถือว่าจำเลยได้ยินยอมต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าแล้ว และตามสัญญาต่อท้ายสัญญากู้เงินระบุว่าหากภายหลังวันทำสัญญาธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ จำเลยยินยอมให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ดังนั้นการที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ18 ต่อปี เป็นร้อยละ 19 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจึงเป็นการคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่กำหนดให้โจทก์มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แม้จำเลยจะมิได้ผิดนัดชำระหนี้ก็ตาม ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับตาม ป.พ.พ.มาตรา 379 ที่ศาลจะลดลงได้ตามมาตรา 383 การที่โจทก์ปรับดอกเบี้ยตามข้อตกลงขณะจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา เป็นแต่เพียงวิธีการหนึ่งในการเรียกเอาชำระหนี้ทั้งหมดจากจำเลยเท่านั้น ไม่ทำให้สภาพของดอกเบี้ยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยอันมีอยู่แต่เดิมต้องแปรเปลี่ยนเป็นเบี้ยปรับไปไม่
จำเลยที่ 1 ได้ที่ดินที่จำนองมาในระหว่างที่จำเลยที่ 1 สมรสกับจำเลยที่ 3 ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ.มาตรา 1474 (1) และเมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินอันเป็นสินสมรสไปจดทะเบียนจำนองแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 3 ให้ความยินยอม หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาสามีเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา 1490 (2) โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้

Share