คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5785/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 38 และมาตรา 40มิได้บัญญัติให้การที่กรรมการการแพทย์ผู้หนึ่งทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจะเป็นการไม่ชอบ เพราะไม่มีบทบัญญัติว่าความเห็นของกรรมการการแพทย์จะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการแพทย์เสียก่อนจึงจะเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้ เพียงแต่เมื่อมีปัญหาจะต้องขอคำปรึกษาแนะนำจากคณะกรรมการการแพทย์ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงจะขอให้คณะกรรมการการแพทย์เสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 และเมื่อรายงานผลการสอบสวนอาการเจ็บป่วยของโจทก์มิใช่การดำเนินงานในการให้บริการทางการแพทย์ แต่เป็นรายงานการตรวจร่างกายโจทก์ที่นายแพทย์ ส.กระทำขึ้นเพื่อเสนอคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสารพิษในร่างกายของโจทก์ หากคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นว่าความเห็นดังกล่าวเพียงพอที่จะวินิจฉัยคำร้องขอของโจทก์ได้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าปรึกษาคณะกรรมการการแพทย์ โดยนำรายงานดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้ และตามมาตรา 38 วรรคสองบัญญัติให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่าง ๆ ดังนี้ เมื่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นว่าเรื่องใดควรจะมอบหมายให้แพทย์ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณะกรรมการการแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคที่จะต้องวินิจฉัยว่ามีลักษณะอาการอย่างไร ก็อาจจะนำความเห็นของแพทย์ผู้นั้นมาพิจารณาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้ ดังนั้นรายงานผลการสอบสวนอาการเจ็บป่วยที่ ส.ทำขึ้นและนำเสนอให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาจึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 40
ในประเด็นข้อที่ว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามฟ้องหรือไม่ ศาลแรงงานได้วินิจฉัยพยานโจทก์แล้วเห็นว่าการที่โจทก์มีปริมาณสารอะลูมิน่าเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณสูงหลังจากที่ไม่ได้สัมผัสกับสารเช่นนี้ ไม่สอดคล้องด้วยเหตุผล อีกทั้งได้ความจาก ย.พยานศาล และนายแพทย์ส.ว่าสารอะลูมิน่านี้มีอยู่ทั่วไปในภาวะแวดล้อม หากเก็บตัวอย่างไม่ดีอาจมีการปนเปื้อนสารอะลูมิน่าจากภายนอกได้ง่าย การที่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการปรากฏว่าโจทก์มีปริมาณสารอะลูมิน่าอยู่ในร่างกายสูงจนผิดไปจากปกติมากเช่นนี้จึงอาจเกิดจากการปนเปื้อนของสารอะลูมิน่าที่มีอยู่ในภาวะแวดล้อมในขณะจัดเก็บก็ได้ ลำพังผลการตรวจหาสารอะลูมิน่าในร่างกายของโจทก์ที่มีปริมาณสูงจนผิดปกติเพียงอย่างเดียว ไม่อาจยืนยันเด็ดขาดได้ว่าอาการป่วยของโจทก์เกิดจากสารอะลูมิน่าจากการทำงาน ส่วนพยานบุคคลที่จำเลยนำสืบล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญเมื่อรับฟังประกอบกับเอกสารทางวิชาการของต่างประเทศเกี่ยวกับสารอะลูมิน่าตามเอกสารหมาย ล.35 และ ล.36 แล้วเห็นว่า มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยโดยมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลียปวดตามข้อ ชาตามแขนและมือจริง แต่การเจ็บป่วยดังกล่าวไม่ได้เกิดจากสารอะลูมิน่าจากการทำงาน ดังนี้ เมื่อศาลแรงงานได้นำข้อนำสืบของทั้งสองฝ่ายมาวินิจฉัยโดยละเอียด มิใช่ฟังเฉพาะเอกสารหมาย ล.35 และ ล.36 ที่เป็นภาษาต่างประเทศเท่านั้น การนำเอกสารทั้งสองฉบับมากล่าวอ้างเป็นส่วนหนึ่งในเหตุผลแห่งการวินิจฉัยย่อมกระทำได้ ไม่ทำให้การวินิจฉัยในส่วนอื่นเสียไป
ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 46 วรรคสาม ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าเห็นควรให้คู่ความฝ่ายที่ส่งเอกสารนั้นทำคำแปลที่เป็นภาษาไทย ซึ่งศาลอาจไม่สั่งให้ทำคำแปลก็ได้เช่นในกรณีที่เอกสารนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่งพยานหลักฐานที่ฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นที่เพียงพอต่อการวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว จึงไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งให้คู่ความทำคำแปลเสมอไป การที่ศาลแรงงานมิได้สั่งให้จำเลยทำคำแปลเอกสารซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศ การอ้างเอกสารดังกล่าวของฝ่ายจำเลยจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย และศาลแรงงานย่อมรับฟังเอกสารนั้นในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งพยานหลักฐานที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารนำสืบได้
ป.วิ.พ.มาตรา 104 ซึ่งอนุโลมใช้ในคดีแรงงานด้วย บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่ามิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าหรือพยานแวดล้อมกรณี เพียงแต่มีหลักว่าให้ฟังประจักษ์พยานเป็นลำดับแรกแต่ถ้าประจักษ์พยานขัดต่อเหตุผลศาลก็อาจจะไม่รับฟังก็ได้ ส่วนพยานบอกเล่าและพยานแวดล้อมกรณีนั้น แม้จะมีน้ำหนักน้อยกว่าประจักษ์พยาน แต่ถ้าศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่เป็นประจักษ์พยานไม่น่าเชื่อถือ ศาลอาจฟังพยานหลักฐานอื่นได้
คดีนี้ประเด็นสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยคือโจทก์เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานหรือไม่ แพทย์ผู้ทำการตรวจร่างกายโจทก์และให้ความเห็นล้วนแต่เป็นพยานโดยตรง นายแพทย์ ส.พยานจำเลยเป็นผู้หนึ่งที่ได้ตรวจร่างกายโจทก์และให้ความเห็น แม้จะได้ทำการตรวจภายหลังจากที่แพทย์หญิง ช.และแพทย์หญิง อ.ได้ตรวจร่างกายโจทก์ ก็ไม่ทำให้นายแพทย์ ส.มิใช่พยานโดยตรง นอกจากนี้ ภ.ก็เป็นประจักษ์พยานเพราะเป็นผู้เก็บตัวอย่างฝุ่นในสถานที่ทำงานของโจทก์ไปตรวจเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนนายแพทย์ ธ.ก็ได้เบิกความให้ความเห็นทางวิชาการตรงกับความเห็นของแพทย์หญิง อ.เมื่อศาลแรงงานได้นำคำเบิกความของแพทย์ผู้ตรวจร่างกายโจทก์พร้อมทั้งความเห็นของพยานดังกล่าวมาพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่นจึงเป็นการวินิจฉัยที่ชอบ และการที่ศาลแรงงานวินิจฉัยพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ก็เป็นการวินิจฉัยที่ชอบแล้ว

Share