คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5463/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโจทก์ ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากตำแหน่ง วินัย และการลงโทษของพนักงานระบุว่า “เมื่อพนักงานทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังต่อไปนี้ ให้ปลดออก ฯลฯ (7)ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่หรือขาดงานติดต่อในคราวเดียวกันโดยไม่มีเหตุผลสมควรเป็นเวลาเกินกว่าเจ็ดวันทำการ…” และข้อบังคับที่กล่าวมานี้ไม่ได้ระบุถึงการสั่งพักงานเพื่อสอบสวนความผิด หรือให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะปลดพนักงานหรือลูกจ้างออกจากงานโดยให้มีผลย้อนหลังได้ โจทก์มีสิทธิปลดพนักงานหรือลูกจ้างออกจากงานในกรณีตามที่ระบุไว้ใน (7) ตั้งแต่วันที่พนักงานหรือลูกจ้างขาดงานเกิน 7 วันทำการเป็นต้นไป มิใช่ตั้งแต่วันแรกที่พนักงานหรือลูกจ้างขาดงาน และโจทก์มีสิทธิปลดออกจากงานได้ในทันที การที่พนักงานของโจทก์เสนองานล่าช้าไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่พนักงานหรือลูกจ้างผู้นั้นที่จะได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างในระหว่างที่ไม่ได้มาทำงานให้แก่โจทก์ ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 575 เมื่อระเบียบข้อบังคับดังกล่าวมิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะปลดพนักงานหรือลูกจ้างออกจากงานโดยให้มีผลย้อนหลังได้ การที่โจทก์มีคำสั่งปลดจำเลยออกจากงานโดยให้มีย้อนหลังดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ
การที่จำเลยมิได้มาทำงานให้แก่โจทก์ภายหลังจากที่ขาดงานไปเกิน 7 วัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิปลดจำเลยออกจากงานได้ทันทีตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ ดังนี้ โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยเนื่องจากจำเลยมิได้ทำงานให้แก่โจทก์ในช่วงระยะเวลาหลังจากที่ขาดงานไปเกิน 7 วัน แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้มีคำสั่งปลดจำเลยออกจากงานในทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่เกิน7 วัน ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังคงจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยต่อมาจึงเป็นกรณีต้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 407 การที่โจทก์รู้ตั้งแต่วันที่จำเลยขาดงานเกิน 7 วันแล้วว่าโจทก์มีสิทธิปลดจำเลยออกจากงานได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยในช่วงระยะเวลาหลังจากนั้นเนื่องจากตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าจ้างดังกล่าวนั้นคืนจากจำเลย

Share