แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีปกครองหากผู้ใดถูกกระทบสิทธิจากการกระทำหรือคำสั่งทางปกครอง ผู้นั้นย่อมต้องใช้สิทธิฟ้องร้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด กำหนดเวลาดังกล่าวหาใช่อายุความตามหลักแห่งกฎหมายเอกชนหรือกฎหมายแพ่งไม่ คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการเป็นคำสั่งตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2495 มาตรา 103 ประกอบ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนพ.ศ.2485 มาตรา 60 (2) และ 62 โดยเป็นการสั่งการฝ่ายเดียวในทางปกครองที่มุ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิหรือหน้าที่หรือสถานภาพทางกฎหมายของจำเลยจึงเป็นคำสั่งทางปกครองมิใช่นิติกรรมตาม ป.พ.พ. ต้องใช้กำหนดเวลาทางปกครองปรับแก่คดี แต่เมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนดังกล่าวแล้วไม่ปรากฏกำหนดเวลาในการที่จะนำคดีมาฟ้องศาล จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง คือ ลักษณะละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 4 วรรคสอง ประกอบมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อโจทก์เห็นว่าคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมิได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการสอบสวนและมิได้สอบสวนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาตามกฎหมายและคำสั่งดังกล่าวกระทบสิทธิของโจทก์จนเกิดความเสียหาย โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดเวลา 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการล่วงสิทธิและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้สิทธิฟ้องร้อง หรือภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันล่วงสิทธิ เมื่อกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้ปลดโจทก์ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2496 ซึ่งถือเป็นวันที่โจทก์รู้ถึงการล่วงสิทธิและรู้ตัวผู้ที่โจทก์จะพึงใช้สิทธิฟ้องร้องแล้ว โจทก์จะต้องฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการล่วงสิทธิและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้สิทธิฟ้องร้อง แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2537 เกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการล่วงสิทธิและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้สิทธิฟ้องร้อง คดีโจทก์จึงพ้นกำหนดเวลาใช้สิทธิฟ้องร้อง
ส่วนที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ถูกกระทำละเมิดในปี 2533 เพราะมิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพตาม พ.ร.ก.เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ(ฉบับที่ 6) พ.ศ.2533 นั้น ในวันดังกล่าวมิใช่วันล่วงสิทธิ แต่เป็นผลกระทบมาจากคำสั่งที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2496