คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2847/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อระหว่างปี 2522 ถึงปี 2524 เจ้าหนี้กับเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ม.กรรมการผู้จัดการลูกหนี้ได้ร่วมกันให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินไปรวม 7 ครั้งคิดเป็นเงิน 2,093,300 บาท โดยไม่ได้กำหนดเวลาใช้เงินคืนและอัตราดอกเบี้ยไว้เมื่อปี 2528 เจ้าหนี้แต่เพียงผู้เดียวรับจดทะเบียนจำนองที่ดินจากลูกหนี้เพื่อเป็นประกันเงินกู้ยืมดังกล่าวในวงเงิน 2,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีและให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วย ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์กับเจ้าหนี้จึงเป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน และต่างมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยสิ้นเชิงและลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนหนึ่งคนใดก็ได้ตามป.พ.พ.มาตรา 298 เจ้าหนี้แต่ผู้เดียวจึงมีสิทธิจดทะเบียนจำนองกับลูกหนี้เพื่อประกันหนี้ดังกล่าวได้โดยลำพังตนเอง หาจำต้องให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ร่วมเข้าเป็นคู่สัญญาจำนองด้วยไม่ การกระทำของเจ้าหนี้ดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ หนี้ตามสัญญากู้เงินมีอยู่อย่างไร ก็คงมีอยู่เช่นเดิม เพียงแต่เจ้าหนี้ทำให้หนี้เดิมซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีประกันเป็นหนี้ที่มีประกันเท่านั้น เมื่อเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ไถ่ถอนจำนองจึงมีผลให้หนี้ที่มีประกันเป็นหนี้ที่ไม่มีประกันเช่นเดิม หนี้ตามสัญญากู้เงินยังหาระงับไปไม่ หนี้ดังกล่าวจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้ดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนสัญญาจำนองที่ว่าให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วยนั้น ก็มีความหมายตรงตัวว่า นอกจากสัญญากู้เงินเดิมแล้วก็ยังถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินอีกชั้นหนึ่งเท่ากับเจ้าหนี้มีหลักฐานทั้งสัญญากู้เงินและหลักฐานตามสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการฟ้องคดีได้ทั้งสองอย่างนั่นเอง เมื่อในวันไถ่ถอนจำนองเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้เพียง 980,000 บาท เจ้าหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในส่วนที่เหลือได้ตามสัญญากู้เงิน

Share