แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทจำกัดตาม ป.พ.พ.มาตรา 1237 นั้นมิได้กำหนดไว้ให้ต้องทำเป็นคำร้องขอ โจทก์จึงชอบที่จะขอให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1โดยทำเป็นคำฟ้องได้ และตามคำฟ้องบรรยายว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 มากกว่าโจทก์ได้บริหารบริษัทจำเลยที่ 1 ขาดทุนจนไม่มีทางหวังว่าจะฟื้นตัวได้ จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยป.วิ.พ.มาตรา 55 แล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องไว้แจ้งชัดว่าเหตุแห่งการขอให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 เนื่องจากบริษัทจำเลยที่ 1 ขาดทุนตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปี 2531 รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 21,273,670.10 บาท และไม่มีทางหวังว่าจะฟื้นตัวได้ประเด็นในคดีจึงมีว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการขาดทุนติดต่อกันเกินกว่า 1 ปีและไม่มีทางหวังจะฟื้นตัวได้หรือไม่ ส่วนที่อ้างมาในคำฟ้องตอนแรกว่า เป็นเพราะกรรมการฝ่ายจำเลยบริหารบริษัทจำเลยที่ 1 ปราศจากความระมัดระวังไม่รอบคอบและไม่สุจริตนั้น เป็นเพียงเหตุผลประกอบเท่านั้น ไม่ใช่เป็นประเด็นโดยตรง ดังนี้ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า น่าเชื่อว่าฝ่ายโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ร่วมกับฝ่ายจำเลย กิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 คงไม่สามารถดำเนินต่อไปได้จึงทำให้กิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ขาดทุนติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปีเศษนั้น จึงไม่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานนอกฟ้องและนอกประเด็น
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกาว่า บริษัทจำเลยที่ 1มีทรัพย์สินเป็นที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาท การที่บริษัทจำเลยที่ 1 ขาดทุนอยู่เป็นเงินเพียง 26 ล้านบาทเศษ น่าจะแก้ไขได้หากได้รับความร่วมมือจากกรรมการฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ แต่กรรมการและผู้ถือหุ้นฝ่ายโจทก์นอกจากจะไม่ยอมใช้ความรู้ความสามารถเข้าช่วยเหลือบริษัทจำเลยที่ 1 แล้ว ยังพยายามขัดขวางมิให้ฝ่ายจำเลยแก้ไขปัญหาได้ และกลับปล่อยให้บริษัทจำเลยที่ 1 ขาดทุนตลอดเวลานั้น ฎีกาของจำเลยดังกล่าวนอกจากจะไม่ได้เสนอหนทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาขาดทุนของจำเลยที่ 1 แล้ว กลับเป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่มีทางที่จะกลับฟื้นตัวให้มีกำไรหรือระงับการขาดทุนต่อไปได้ ดังนี้จึงสมควรให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1
ป.พ.พ.มาตรา 1251 มิได้มุ่งหมายที่จะให้ผู้ที่เป็นกรรมการของบริษัทเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทเสมอไปไม่ เพราะมีข้อยกเว้นไว้ว่าถ้าหากมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ชำระบัญชีของบริษัทก็จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับนั้น ๆ และถ้าหากกรรมการของบริษัทไม่อาจเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีได้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ และข้อบังคับของบริษัทไม่ได้กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้ กรณีย่อมต้องด้วยวรรคสองของมาตรา 1251 นี้คือไม่มีผู้ชำระบัญชี ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีได้ มิฉะนั้นบทบัญญัติของมาตรา 1251 ย่อมไร้ผลไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่กรณีใด ๆ ได้
กรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีเหตุไม่ลงรอยกัน ไม่อาจชำระบัญชีร่วมกันได้ และไม่ปรากฏว่ามีข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้ โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและผู้จัดการมรดกของผู้ถือหุ้นจึงมีสิทธิขอให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1251 วรรคสอง ได้